เล่าเรื่อง 'แบงค์ 60 พรรษา'

เล่าเรื่อง 'แบงค์ 60 พรรษา'

วันพรุ่งนี้ (9พ.ย.) ธนาคาพาณิชย์หลายแห่ง จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปแลก “ธนบัตรที่ระลึก” 2 รุ่น

 คือ บัตรธนาคารเนื่องในมหามงคลสมัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา 5 ธ.ค.2530 ชนิดราคา 60 บาท ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่าเหลืออยู่ 9 แสนฉบับ อีกรุ่น คือ ธนบัตรที่ระลึกครบรอบ 100 ปี ธนบัตรไทย ชนิดราคา 100 บาท เหลืออยู่ 9 แสนฉบับ เช่นกัน

ขออนุญาตเล่าเฉพาะรุ่น “60 พรรษา ซึ่งถือเป็นรุ่นที่มี ความพิเศษ หลายอย่าง

อย่างแรก คือ เป็นรุ่นที่เรียกว่า บัตรธนาคาร สาเหตุเพราะโดยปกติแล้ว ถ้าเป็น “เงินกระดาษ” ที่ออกใช้โดยรัฐบาล จะเรียกว่า “ธนบัตร” แต่ถ้าเงินกระดาษนั้นออกใช้โดย ธปท. จะเรียกว่า “บัตรธนาคาร”

อย่างที่สอง เป็นบัตรธนาคาร รุ่นแรก และ รุ่นเดียว ที่ ธปท. ออกใช้ เนื่องจากในอดีต แม้จะมีพระราชบัญญัติธปท. พ.ศ.2485 ให้สิทธิ์ ธปท. เพียงผู้เดียวในการออกบัตรธนาคารแทนธนบัตรของรัฐบาล แต่ช่วงเวลานั้น เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ธปท. เกรงว่า ถ้าออกใช้บัตรธนาคารในขณะที่คนยังไม่คุ้นเคย อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นได้

แม้ช่วงเวลานั้น ธปท. จะว่าจ้าง บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทที่พิมพ์ธนบัตรให้กับรัฐบาลไทยในขณะนั้น มาช่วยออกแบบแต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ จนกระทั่งมาออกบัตรธนาคารฉบับนี้

อย่างที่สาม เป็นรุ่นที่นำเทคนิคการเหลือบสีมาใช้ โดยสีจะเหลือบกันระหว่าง “เขียว” กับ “น้ำเงิน”

อย่างที่สี่ เป็นเงินกระดาษแบบเดียวที่มีรูปทรง สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้าง-ยาว ด้านละ 159 มิลลิเมตร โดยเลข 1 หมายถึง การออกบัตรธนาคารของธปท.ครั้งแรก เลข 5 หมายถึง เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และ เลข 9 หมายถึง รัชกาลที่ 9

บัตรธนาคารฉบับนี้ ภาพประธานด้านหน้าเป็น พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องแบบจอมทัพ ทรงฉลองพระองค์ครุย ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรพิมาน มีพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ลายช่อกระหนกเปลว และตรา ธปท.เป็นภาพประกอบ

ภาพประธานด้านหลัง เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทับท่ามกลางพสกนิกร

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว บัตรธนาคารนี้ อาจไม่ได้รับความนิยมนัก ด้วยเพราะรูปทรงที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำให้ยากต่อการเก็บรักษา แต่ปัจจุบันถือเป็นรุ่นที่ประชาชนต้องการอย่างมาก