SIDEWAY

SIDEWAY

สวัสดีครับท่านนักลงทุน กลับมาพบกันอีกครั้ง เพื่อมาคุยกัน เรื่องกลยุทธ์การลงทุนในเดือนพฤศจิกายน ว่าท่านนักลงทุน ต้องเตรียมทำการบ้านอะไรบ้างในเดือนพฤศจิกายนนี้

ในเดือนนี้ ทุกสายตาขอมุ่งไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ซึ่งโพลต์ล่าสุด คะแนนนิยมทั้ง 2 ท่านเริ่มขยับขึ้นมาเท่าๆกันหลัง FBI เตรียมรื้อฟื้นคดี อีเมล์ส่วนตัวของนางฮิลารี คลินตัน ส่งผลให้ตลาดหุ้นในระยะสั้น มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยธนาคารบาร์เคลย์คาดว่า ถ้าทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง S&P500 จะตกลง 10 - 11%

นอกจากเรื่องการเลือกตั้งที่สหรัฐ ฯ ที่เป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นแล้ว การขึ้นของหุ้นในเดือนนี้ อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (เฟด)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในธันวาคม ซึ่งถ้าฟังจากแถลงการณ์ของเฟด ล่าสุดก็ยังยืนยันคำเดิมที่ว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ และ 2 ครั้งในปีหน้า

การส่งสัญญาณเช่นนี้ของเฟด ทำให้ตลาดหุ้นเชื่อมั่นว่า ในเดือน ธ.ค.วันที่ 20 (ความเป็นไปได้ 78%) มีการคาดการณ์กันว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 0.75% ในปีนี้และเป็น 1.25% ในปี 2017

อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าและทิ้งห่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (ในอดีตยุคขาขึ้นของดอกเบี้ย Fed ขึ้นดอกเบี้ยปีละ 1.5 – 2.5%)

แต่การที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ เงินชะลอการไหลเข้าและมีทิศทางไหลออกเป็นระยะ แม้เราจะพบว่าภายหลังการขึ้นดอกเบี้ยเฟดในปี 1994, 1999, 2004 การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้มีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นในเอเชียนักก็ตาม

เชื่อกันว่า ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม หุ้นน่าจะขึ้น ทั้งนี้เพราะ มีการเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมามากกว่าปีครึ่ง และอาจมีหลายท่านมองไปว่า การขึ้นดอกเบี้ย อาจเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตาม คือราคาน้ำมันดิบโลก หลังจากราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มดีดตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงท้ายของเดือน ก.ย.จากผลประชุมนอกรอบของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่บรรลุข้อตกลงในการที่จะปรับลดการผลิตลง และยังขึ้นต่อเนื่องได้ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ต.ค.จากความคาดหวังว่าที่ประชุม OPEC ในช่วงปลายเดือน พ.ย.จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นจากระดับ 48 ดอลลาร์/บาร์เรล มาเป็น 52 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ อย่างไรก็ตามยิ่งเข้าใกล้วันประชุมประจำปีคือวันที่ 30 เดือนนี้ ก็เริ่มมีแรงขายลดความเสี่ยงออกมากดดันมากขึ้น จนทำให้ราคาน้ำมันย้อนลงมาเคลื่อนไหวในช่วงท้ายของเดือนแถว 48.5 ดอลลาร์/บาร์เรล อีกครั้ง

จะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องลดกำลังการผลิต ที่สำคัญการประชุมOPEC สมาชิกมักไม่ค่อยทำตามที่ตกลงกัน

ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.คาด GDP 3Q16 เติบโตใกล้เคียงไตรมาสก่อน (2Q16 +3.5% Y-Y) หรืออาจแผ่วลงเล็กน้อย แต่ทั้งปี 2016 FSS ยังคงคาด GDP เติบโต 3.3% แม้ว่าแนวโน้ม 4Q16 อาจชะลอลงบ้างก็ตาม และคาดปีหน้าโต 3.5% ปัจจัยขับเคลื่อนหลักจะมาจากการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตามการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ และการบริโภคของประชาชนที่จะเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากโครงการรถคันแรกที่จะทยอยครบอายุตั้งแต่ปลายปีนี้ ราคา Soft Commodity หลายประเภทที่ฟื้นตัว (ตามทิศทางราคาน้ำมัน) และความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ดีขึ้น

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ก็น่าจะออกมาดีเกินคาด แม้เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจบ้านเรายังดีอยู่

ด้านผลกำไรของกลุ่มธนาคารใน 3Q16 ทำได้ใกล้เคียงที่เราคาดและถือว่าเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ ปัจจัยหลักมาจากการบริหารต้นทุนทางการเงินให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง (Reprice อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และควบคุมฐานเงินฝากไปสู่เงินฝากระยะสั้นและย้ายฐานบางส่วนไปลงทุนในกองทุนรวม) ทำให้ NIM เฉลี่ยของกลุ่มปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.56% จาก 3.42% ใน 2Q16 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 6 ปี

อย่างไรก็ตาม NPL ยังเป็นปัจจัยถ่วงโดยเฉพาะกับธนาคารขนาดใหญ่ที่ดูจะมีความเสี่ยงคุณภาพหนี้สูงขึ้น ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะเริ่มบรรเทาตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ (โดยเฉพาะ KBANK ที่ถือว่าน่าผิดหวังที่สุด) แต่ปรากฎว่า NPL ของกลุ่มธนาคารยังคงเพิ่มขึ้นแต่เป็นอัตราการเพิ่มที่ชะลอลง NPL ที่เพิ่มส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และรายกลางที่ปรับโครงสร้างไม่สำเร็จ หรือการกลับมาเป็น NPL อีกครั้ง และการตกชั้นหนี้ ทำให้ NPL Ratio เพิ่มเป็น 3.3% จาก 3.28% ใน 2Q16 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันในการตั้งสำรอง ฯ ที่มากขึ้นต่อเนื่องใน 4Q16 และต่อเนื่องในปี 2017

กลยุทธ์ในเดือนนี้ เชื่อว่า SET น่าจะแกว่งตัวอีกสักพัก (sideway) เพื่อรอแรงซื้อรอบใหม่ ที่จะทำให้ SET ขึ้นไปถึงแนวต้านที่ 1,550 จุดได้