Be Consistent

Be Consistent

สาเหตุที่มีผลทำให้การตัดสินใจในเรื่องเดียวกันเบี่ยงเบนและแตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้งนั้นมีมากมาย

การทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายของผมทำให้ผมได้มีโอกาสทำงานกับผู้คนมากมาย โดยการคาดเดาการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของผู้ที่ผมได้ทำงานด้วยให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงที่สุดถือเป็นส่วนสำคัญมากในการทำงานของผม

ผมรู้สึกว่าคนที่ตัดสินใจแตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้งทั้งๆ ที่เป็นเรื่องแบบเดียวกันหรืออยู่บนพื้นฐานเดียวกัน หรือมีองค์ประกอบเช่นเดียวกันเป็นคนที่ทำงานด้วยยากไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงกันข้ามก็ตาม และคุณสมบัติเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับงานที่กำลังทำร่วมกันอยู่ เพราะคนที่ทำงานด้วยจะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าคนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้จะมีการตอบสนองอย่างไรเมื่อมีปัญหา หรือเหตุการณ์ หรือข้อเสนออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้การหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับได้ให้แก่คนเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากและอาจเปลี่ยนแปลงไปมาได้เสมอ เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าแนวทางในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยเป็นที่พึงพอใจในอดีตจะได้รับการยอมรับแบบเดียวกันในครั้งๆ ต่อมา แม้ว่าจะเป็นเรื่องแบบเดียวกันก็ตาม

ผมชอบทำงานกับคนที่ผมสามารถคาดเดาการตัดสินใจของเขาได้ เพราะการที่คนเหล่านี้ตัดสินใจในเรื่องแบบเดียวกันไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะตัดสินใจเวลาใด หรือในสถานการณ์เช่นใดแสดงว่าเขามีหลักการในการตัดสินใจ ซึ่งจะต่างจากคนตัดสินใจไม่แน่นอนที่มักจะปล่อยให้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งโดยเฉพาะมามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

Harvard Business Review ฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีบทความ The Cost of Inconsistent Decision Making โดย Daniel Kahneman และคณะซึ่งเขียนถึงเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ โดยชี้ให้เห็นว่า สาเหตุต่างๆ ที่มีผลทำให้การตัดสินใจในเรื่องเดียวกันเบี่ยงเบนและแตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้งนั้นมีมากมาย ซึ่งล้วนแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่เลย เช่น อารมณ์ สภาพอากาศ ความชอบหรือไม่ชอบ ฯลฯ และการตัดสินใจที่ไม่มีความแน่นอนนี้ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้น องค์กรที่จำเป็นต้องให้พนักงานทำการตัดสินใจในเรื่องแบบเดียวกันอยู่ตลอดเวลา จึงต้องรีบหาวิธีแก้ไขปรับปรุงการตัดสินใจให้เกิดความแน่นอนมากขึ้นด้วยการสร้างเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยการตัดสินใจ เช่น การทำ check lists หรือการกำหนดกระบวนการตัดสินใจเป็นขั้นเป็นตอน เป็นต้น

มีผู้บริหารระดับสูงที่ผมชอบทำงานด้วยหลายท่านซึ่งมีคุณสมบัติในการตัดสินใจที่แน่นอนไปในทิศทางเดียวกันทุกครั้ง ซึ่งคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ก็มีคุณสมบัติเช่นนี้

ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ซีพีออลล์มานาน และในเรื่องสำคัญๆ ที่จะต้องมีการตัดสินใจ ก็จะมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับคุณก่อศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ผมสามารถคาดเดาการตัดสินใจได้ เพราะคุณก่อศักดิ์จะใช้หลักการในการตัดสินใจด้วยความชัดเจนและแน่วแน่ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าในเวลาใด หรือในสถานการณ์ใด ซึ่งทำให้ผมสามารถเสนอแนะและร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางต่างๆ ที่จะเลือกดำเนินการตลอดจนข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางในมุมมองของที่ปรึกษากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมเชื่อว่าทีมผู้บริหารของคุณก่อศักดิ์ ก็สามารถคาดเดาการตัดสินใจของคุณก่อศักดิ์ได้เช่นกัน จึงทำให้การบริหารจัดการบริษัทเป็นไปได้อย่างดี จนสามารถร่วมกันสร้างซีพีออลล์ให้เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ

การตัดสินใจหรือมีปฏิกิริยาหรือความเห็นในเรื่องเดียวกันไปในทิศทางเดียวกันหรือเป็นแบบเดียวกันอยู่เสมอนั้น เป็นหนึ่งในสิ่งพึงปฏิบัติที่แนะนำไว้ในหนังสือขายดี The Rules of Life ของ Richard Templar ด้วย (Be Consistent…If your friends and family don’t know how you’ll react to the same event or suggestions from one day to the next, you make them live their lives on edge.)