Taste Shift ในข้าวไทย : หนามยอกที่ต้องเอาหนามบ่ง

Taste Shift ในข้าวไทย : หนามยอกที่ต้องเอาหนามบ่ง

ความพึงพอใจรสข้าวพรีเมียมและข้าวหอมมะลิเกรดดีของไทยในตลาดโลกได้จืดจางลงอย่างหนักสามปีที่ผ่านมา

สาเหตุหลักก็เพราะเราทำเอง คือ นโยบายจำนำข้าวทำให้ข้าวไทยผันผวนเสื่อมลงทุกด้าน ตั้งแต่ คุณภาพ การเก็บรักษา ออร์เดอร์ที่วุ่นวาย ส่งผลให้รสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป (taste shift ) ลิ้นของคนฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่เคยสั่งข้าวพรีเมียมข้ามหอมมะลิเกรดดีไปกินแต่ไหนแต่ไร รวมทั้งคนกินข้าวในประเทศตะวันตกและออสเตรเลียด้วย เริ่มชินข้าวคุณภาพต่ำลง ไม่เห็นความแตกต่างมากนักระหว่างข้าวพรีเมียม และข้าวหอมมะลิ กับข้าวอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่า

ราคาข้าวไทยในตลาดโลกขณะนี้จึงมีแต่ทรุดมากกว่าทรง การพยายามทำให้คนเลิกกินหันมากินอีกเป็นเรื่องยาก ไหนจะต้องรอปัจจัยเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดยชาวนาก็ยังต้องปลูกข้าวอยู่ทุกปีเพราะไม่รู้จะทำอื่น นี่ตั้งแต่ปลายตุลา ชาวนาผู้ผลิตข้าว(เปลือก)และรัฐบาลผู้มีหน้าที่บำบัดทุกข์ราคาข้าว (เปลือก) ตกต่ำ ต่างก็ได้ออกมาคร่ำครวญกันแล้วทั้งสองฝ่าย ว่าจะผ่านวิกฤติราคาข้าวเปลือกตกต่ำไปอีกปีหนึ่งได้อย่างไร

จึงน่าคิดว่าจะหันมาสร้างรสนิยมให้คนไทยได้กินข้าวดีๆ ลิ้นรู้จักแยกแยะข้าวสารดีๆได้อย่างไรเพราะน่าจะสำเร็จเร็วกว่า เราคนไทยอยากกินข้าวดีๆเพียงแต่ราคาแพง ไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึงข้าวพรีเมียมและข้าวหอมมะลิเกรดดี ตลอดมาจึงได้กินแต่ข้าวคุณภาพและราคากลางๆ ลงไปจนถึงต่ำ ว่าไปทำไมมี คงมีคนไทยที่ตายไปโดยไม่เคยลิ้มรสข้าวพรีเมียมหรือข้าวหอมมะลิเกรดดีกับเขาเลย

การสร้าง taste shift ในคนไทย นอกจากเพิ่มคุณภาพชีวิต กินข้าวเกรดดี ปลอดภัย ในระยะยาวการยอมเก็บเงินซื้อข้าวดีแทนใช้จ่ายอย่างอื่น จะเป็นการใช้พลังผู้บริโภคในประเทศมาควบคุมชาวนาในการผลิตข้าวเปลือก กลไกราคาตลาดต้องการข้าวดี จะบังคับให้ชาวนาผลิตข้าวเกรดกลางๆ จนถึงต่ำน้อยลงไปเรื่อยๆ หันมาปลูกแต่ข้าวนาปีข้าวดีปีละหนเดียว เหนื่อยน้อยลง แต่ได้ราคาดีและอาจดีกว่าปลูกข้าวเกรดกลางๆ และต่ำจำนวนมากๆ โดยที่ไม่สนใจคุณภาพอย่างที่เป็นกันหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปลูกข้าวนาปรังปีละ 2 ครั้ง หรือสามปีปลูก 7 ครั้ง เพื่อขายเอาเงิน “อุดหนุน” ในรูปแบบต่างๆที่ 20 กว่ารัฐบาลเราเคยมีมา ต่างก็วนเวียนซ้ำซากทำเหมือนกันไม่ว่าจะเลือกตั้งมาหรือไม่ เช่นประกันราคาข้าวเปลือก ให้เครดิตปุ๋ย จำนำข้าวเปลือกราคาสูงกว่าท้องตลาด จำนำยุ้งฉาง อุดหนุนไร่ละหนึ่งพันบาทข้าวถูกน้ำท่วม ไร่ละ 500 ค่าเกี่ยวข้าว เป็นอาทิ

รัฐบาลชุดนี้ควรจะต้องเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ในเรื่องข้าว เว้นเสียแต่ว่า ยังต้อง“เล่นการเมือง” กับชาวนา จึงยังทำอื่นไม่ได้ ต้อง“อุดหนุน”ในรูปแบบต่างๆเพื่อทั้งชาวนาและข้าราชการทั้งการเมืองและประจำ ที่เคย”เอี่ยว”กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้องจะได้ไม่ทำปัญหาเศรษฐกิจให้ลุกลามใหญ่โตเป็นปัญหาการเมืองซึ่งรัฐบาลไม่ว่าจะเลือกตั้งมาหรือไม่ ต่างก็กลัว(ขี้)ขึ้นสมอง

ถึงเวลาแล้วที่ ยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี ต้องเข้าใจและเข้าถึงเส้นทางช่วงเวลาจากข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสารอย่างมีวงจรชีวิตติดต่อกัน การจะเป็น คนกลางหรือคิดปรับเปลี่ยนระบบจนถึงขั้นตัดคนกลางออกไป จะต้องคิดได้ตลอดรอดฝั่งเรื่องของข้าวเปลือกที่จะมาเป็นข้าวสารและจากข้าวสารทำอย่างไรจึงจะส่งผลไปถึงข้าวเปลือก คล้ายๆกับที่คนกลางอย่างผู้ประกอบการโรงสีสามารถคิดทำมาได้ ขณะนี้ที่ชาวนาสีข้าวและขายข้าวสารโดยตรงก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่ว่าชาวนาจะมาสีข้าวสารขายตรงทุกคนย่อมเป็นไปไม่ได้

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องค่อยๆ เลิกพิธีกรรมแก้ปัญหาข้าวแบบเดิมๆ เพราะสำเร็จกิจเพียงแค่ ประทังชาวนาพอเพียงดำรงชีพ รักษาฐานเสียงให้กับพรรคการเมืองใหญ่ๆสองสามพรรค แต่ไม่สามารถอำนวยแม้ชาวนารายได้ปานกลางสามารถสะสมอะไรได้ ทั้งสุขภาพ การศึกษา เงินทุน ที่ดิน เครื่องจักร ทักษะ เครือข่ายใดๆ ที่จะเปลี่ยนตนเองให้เป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) อื่นใด - แม้แต่ข้าวเปลือกของตนเองให้เป็นข้าวสาร ไม่ได้พ้นจากการเป็นชาวนาขายข้าวเปลือกในมิติเดียวอย่างที่เป็นมาตลอดศตวรรษที่ 19-20 เลย แถมเหนื่อยทำมากครั้งขึ้นอีก โดยคุณภาพข้าวที่ได้ก็ลดลงไปเรื่อยๆ ขายราคาดีแบบเดิมไม่ออก หรือขายสู้ราคาข้าวเกรดเดียวกันจากเวียดนาม อินเดีย พม่าที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าก็สู้ไม่ได้

ด้วยเราถูกจัดพ้นฐานะประเทศยากจนไปแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่เป็นชาวนารายได้ปานกลาง หรือที่บางคนเรียกว่า ชนชั้นกลางใหม่ หรือชนชั้นกลางระดับล่าง มีวิถีชีวิตแบบชาวเมืองมากกว่าชาวชนบทยากไร้แบบเดิมที่มีเหลือเพียงส่วนน้อย( ซึ่งกลุ่มนี้รัฐต้อง ”อุดหนุน” ให้ถึง) พวกเขาปลูกข้าวอยู่แต่รายได้ไม่มาจากข้าวอย่างเดียว ปลูกพืชเกษตรอื่น อีกทั้งมีรายได้ค่าจ้างอื่นๆอีก ชาวนากลุ่มนี้ต้องได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะ เป็นพลเมืองหุ้นส่วนทางการเมืองมีสิทธิมีเสียง ไม่ใช่เพียงรอรับเงิน”อุดหนุน”เพื่อเป็นฐานคะแนนเสียงเลือกตั้งปีต่อปี ยุทธศาสตร์ระยะยาว ๒๐ ปี ต้องเผยโฉมใหม่ด้านเกษตร หาพืชอื่นนอกจากข้าวมาเป็นทางเลือก ตลอดจนอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดกลางอื่นๆ ซึ่งในที่สุดแม้นมิได้เป็นผู้ประกอบการใด อาชีพปลูกข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ ก็ควรคุ้มทุนมีกำไรในระบบพอควร ไม่ใช่สาละวันเตี้ยลง

โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ความปลอดภัยและความมั่นคงของอาหาร และวิถีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลกศตวรรษที่ 21 รุกเข้ามาเรื่อยๆ เกินกำลังของทั้งชาวนารายได้ปานกลางและโดยเฉพาะชาวนายากจนที่จะต่อสู้ไปตามยถา

อย่ามัวย่ำเท้าอยู่กับพิธีกรรมแก้ปัญหาแบบเดิมๆ และได้แต่อ้างกล่าวโทษ “นักการเมือง” สร้างความแตกแยกอยู่ร่ำไป