สานต่อ 'ศาสตร์พระราชา' สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สานต่อ 'ศาสตร์พระราชา' สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช

ไม่เพียงยังความอาดูร อาลัยมายังปวงชนชาวไทยเท่านั้น ผู้นำของประเทศต่างๆ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ต่างก็ร่วมถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของพระองค์ ไม่ต่างจากการสูญเสียบุคคลสำคัญของโลก เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงอุทิศเวลา ตรากตรำพระวรกาย และเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อความสุขของประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน

ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ 70 ปี ทรงพระราชทานพระราชดำรัสให้กับประชาชนในหลายวโรกาส นอกจากนั้นยังพระราชทานโครงการในพระราชดำริอีกกว่า 4,000 โครงการ

พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่าเป็นศาสตร์ของพระราชาที่ประชาชนคนไทยคุ้นเคยและจดจำได้มากที่สุด และเมื่อเวลาผ่านไปก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถเป็นแกนหลักการพัฒนาของโลกได้ เพราะแม้แต่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ระบุว่า ในในอีก 15 ปีข้างหน้ายูเอ็นจะใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปปรับใช้ในการพัฒนาเนื่องจากสอดคล้องกับหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ไปยังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ในวันที่ 23 ก.พ.2538

ในวันนี้ ม.แม่โจ้ ยังถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของไทย ที่มีการเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับ “ศาสตร์พระราชา” โดยตรงในระดับปริญญาโทภายใต้ชื่อหลักสูตร “การพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน” โดยมีการเปิดหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2547 ภายใต้การสนับสนุนและใก้คำปรึกษาของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปัจจุบันมีการเปิดสอนมาแล้ว 14 รุ่นมีนักศึกษาสำเร็จหลักสูตร 191 คน และมีนักศึกษาไปทำงานในหลากหลายวงการ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ในการทำงานและการพัฒนาสังคม

รศ.สมชาย องค์ประเสริฐ อดีตประธานอาจารย์ประจำหลักสูตร เล่าว่าหลักการทรงงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระเจ้าอยู่หัว คือท่านจะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ทำความเข้าใจพื้นที่ และองค์ประกอบด้านต่างๆก่อนจะทรงกำหนดโครงการการพัฒนา โดยหลักการคือการทำความเข้าใจภูมิสังคม คือทั้งภูมิประเทศ และสังคม ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ทำให้โครงการแต่ละแห่งประสบความสำเร็จ

นักศึกษาที่เข้ามาเรียนวิชานี้จะต้องเรียนรู้หลักปรัชญา แนวคิดของพระองค์ ว่าพระราชดำรัสและโครงการในพระราชดำริของพระองค์มีแนวคิด และปรัชญาอย่างไร ก่อนที่พระองค์จะทรงพระราชทานให้กับประชาชน เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ในการพัฒนาตนเองและพัฒนางานที่ทำได้

แม้ว่าการศึกษาถือว่าเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการถ่ายทอดแนวพระราชดำริ ให้ประชาชนได้รับทราบ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องช่วยกันทำให้ความรู้ต่างๆ ที่พระองค์ทรงพระราชทานสามารถขยายผลไปสู่การปฏิบัติมากขึ้น และถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะน้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ไปสู่การปฏิบัติ

...เพื่อให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบของการนำศาสตร์พระราชา ไปสู่การปฏิบัติ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง