ปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (1)

ปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (1)

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก

ทรงรับบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ ภายใต้ระบอบการปกครองและสภาพแวดล้อมทางการเมืองใหม่ นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนสภาพแวดล้อมอันเกิดจากปัญหาสำคัญคือ อำนาจทางการเมืองยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้นำคณะราษฎร์บางคน และกลุ่มข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการฝ่ายทหาร กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดประเด็นสำคัญที่เกี่ยวโยงกัน 3 ประการ ดังนี้

ประเด็นแรก ด้วยผลของเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันและปรารถนาจะให้เกิดขึ้น ทำให้ภารกิจในการสร้างและวางบทบาท รวมทั้งการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องตกอยู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แทนที่จะเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ผู้ทรงเป็นพระบรมเชษฐาธิราช ภายหลังจากที่รัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายสิริราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงรับบรมราชาภิเษก ขึ้นครองราชย์ภายใต้ระบอบการปกครองและสภาพแวดล้อมทางการเมืองใหม่ นั่นคือ ระบอบการเมืองภายหลังการล้มล้างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนย้ายการถือครองอำนาจรัฐจากพระมหากษัตริย์ มาอยู่ในมือของกลุ่มผู้นำคณะราษฎรบางคน ที่อยู่ในแวดวงข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน

ระบอบการเมืองใหม่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านของระบอบการเมืองการปกครองไทย ที่คณะผู้ก่อการมุ่งหวังจะสร้างให้เป็นประชาธิปไตยนี้ เป็นระยะของวิกฤติภาวะทางการเมือง ซึ่งเป็นสภาวะที่ “สิ่งเก่ากำลังผุกร่อนสลายลง และสิ่งใหม่ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ มีอาการอันวิปริตแปรปรวนต่างๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด”

ในบริบทของการเมืองไทยหลัง พ.ศ.2475 ความผุกร่อนเสื่อมคลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นข้อเท็จจริงที่แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ก็ทรงยอมรับว่าได้เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันทางการเมือง และการจัดสรรอำนาจในระบบการเมืองใหม่กลับไม่ลงตัว รวมทั้งแหล่งที่มาของความชอบธรรมของระบอบการเมืองใหม่ ซึ่งวางอยู่บนหลักการประชาธิปไตยและการมีรัฐธรรมนูญ ยังขาดพลังและเวลาในการตกผลึกในสังคมที่นานเพียงพอ สำหรับการเป็นรากฐานอันเข้มแข็งและหนักแน่นในการรองรับระบอบการเมืองใหม่

ขณะเดียวกัน สภาพการเมืองของไทยในระยะ 25 ปีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ก็คือ ความขัดแย้ง แตกร้าวและทำลายล้างกันระหว่างผู้นำทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงหลักการตามกติกาที่รัฐธรรมนูญวางไว้ และความพยายามของผู้นำการเมืองในกลุ่มคณะราษฎรบางคน ในการจำกัดบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เหลือน้อยที่สุด

เหตุเหล่านี้ทำให้ระยะเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทยภายหลัง 2475 เต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพอันเกิดจากการแข่งขันช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมือง มีความคลุมเครือ ขาดความแน่นอนชัดเจน การต่อสู้ทำลายล้างและการเกาะตัวเป็นพันธมิตรทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ นี้ในที่สุดจะก่อรูปเป็นโครงสร้างทางการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้ระบอบที่จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ สถาปนาขึ้นภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2500 อันเป็นโครงสร้างที่จะกลายมาเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัด ในการฟื้นฟูสถานภาพและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองการปกครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ประเด็นที่สอง  แม้ระบอบการเมืองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะมีแบบอย่างของต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เป็นต้นแบบให้ศึกษาได้ รวมทั้งเป็นแนวเทียบเคียงอย่างกว้างๆ ในการกำหนดกรอบเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบของระบอบดังกล่าว เช่น การกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจในทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

แต่เนื่องจากสภาพการณ์และระดับการพัฒนาทางการเมือง รวมทั้งโจทย์ปัญหาและปัจจัยแวดล้อมของสังคมการเมืองไทย มีความแตกต่างอย่างมากกับประเทศตะวันตก ต้นแบบดังกล่าวจึงเป็นได้อย่างมากก็เพียงแม่แบบ แต่ไม่อาจจะนำมาลอกเลียนหรือนำมาใช้อย่างสำเร็จรูปได้ สถานะและบทบาทอันเหมาะสมของสถาบันพระมหากษัตริย์สำหรับสังคมหนึ่งๆ จะพึงเป็นเช่นไร ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เงื่อนไขภายในสังคมนั้นจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดประเพณีการปกครองดังกล่าวมากกว่าจะเป็นผลของการ “นำเข้า” แม่แบบจากต่างประเทศโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน เพราะไม่ว่าแม่แบบนั้นจะน่าพึงปรารถนาสักเพียงใด แม่แบบนั้นก็เป็นผลของพัฒนาการภายในสังคมของเขาเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงรับภารกิจเป็นผู้ทรงบุกเบิกเข้าไปในดินแดนที่ยังไม่มีผู้ใดสำรวจแผ้วถางนำทางไว้ให้ขณะที่ ประสบการณ์ของประเทศอื่น แม้จะเป็นตัวอย่างพอให้เทียบเคียง แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นแผนที่ได้โดยตรง

แนวทางการ “ทำราชการ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย มีความแตกต่างจากพระมหากษัตริย์ของต่างประเทศพระองค์อื่นอย่างเด่นชัด ในเรื่องการทรงทำหน้าที่ที่มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงการเป็นประมุขของรัฐ และพิธีการตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ได้ทรงขยายบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ออกไปอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสนับสนุนการพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเหมาะสมต่อสภาพของประเทศ ซึ่งกำลังถูกผลักให้เข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ตามกระแสโลก และในด้านที่เป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนพระบารมีตามคติธรรมโบราณของไทยเกี่ยวกับผู้ปกครองที่ดี เพื่อดำเนินและดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเหล่าพสกนิกรทั่วทุกระดับ และในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ

การปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ซึ่งขยายออกไปจากหน้าที่ที่มีอยู่ตามแบบแผนทั่วไปของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำด้วยพระราชหฤทัยตั้งมั่น ไม่ย่อท้อ นำให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายทรงเจริญรอยตาม การตรากตรำพระวรกายในการทรงงานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตลอดรัชสมัย ทำให้สถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ได้รับการฟื้นฟูขึ้นจนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญในระบอบการปกครองใหม่ และทำให้พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระสถานะอยู่เหนือการเมืองและภายใต้รัฐธรรมนูญ กลับมามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในทางการเมือง ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่แต่เพียงการทำหน้าที่ในฐานะพระประมุขของชาติเท่านั้น แต่ความสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ที่บทบาทในระบบการเมือง ในฐานะองค์อธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงทั่วไปของคนในชาติ (general will) ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในยามที่บ้านเมืองประสบวิกฤติภาวะอีกด้วย

เรื่องนี้โยงไปสู่ประเด็นที่สาม เกี่ยวกับปัญหาใหญ่ใจกลางของการเมืองไทยนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา (ต่อตอนต่อไปในเดือนหน้า)