กฎหมายตามแนวพระราชดำริ

กฎหมายตามแนวพระราชดำริ

พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมิทนทรมหาภูมิพลแผ่ไพศาล ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีประชาชนคนใดในผืนแผ่นดินนี้

ที่ไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง นอกจากพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ที่พระองค์ได้ทรงเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทพระวรกายตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์แล้ว พระองค์ได้พระราชทานคำสอนแก่ประชาชน ผ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสต่างๆ มากมาย

ผู้เขียนได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตในการได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง ให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมายในต่างประเทศ ซึ่งทุนเล่าเรียนหลวงนี้พระราชทานครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แต่ได้ถูกยกเลิกไปใน ปีพ.ศ. 2476 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมอบให้แก่นักเรียนสองคนทุกปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มให้รื้อฟื้นโครงการ และจัดให้มีทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2507และเพิ่มจำนวนทุนเล่าเรียนหลวงจากปีละ 2ทุน เป็น 9ทุน

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ผู้เขียนขอนำแนวคำสอนของพระองค์ที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาบ้านเมืองทางด้านกฎหมายมาถ่ายทอดอีกครั้งในบทความฉบับนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ว่า

“...งานของกฎหมายในประเทศอย่างประเทศไทยนี้มีปัญหาอยู่มาก เพราะว่าหลักวิชานิติศาสตร์ของเราเป็นหลักวิชาที่เราได้ศึกษามาจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก การนำมาปฏิบัติในประเทศของเราน่าจะได้พิจารณาให้เห็นความเป็นอยู่ของบ้านเมืองมาประกอบด้วย แต่ก็เป็นการยากลำบากที่จะเอาหลักวิชาโดยแท้โดยตรงมาประกอบการปฏิบัติในประเทศของเรา เพราะว่าสถานการณ์ไม่เหมือนกับต่างประเทศ โดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์และทางปกครองที่มีมา...

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพล ดังกล่าวผู้เขียนเข้าใจและน้อมรำลึกตลอดมาว่า นักกฎหมายผู้มีหน้าที่ร่างกฎหมายและใช้กฎหมายต้องพึงรำลึกเสมอว่า แม้ว่ากฎหมายของต่างประเทศจะพัฒนาและเป็นแบบอย่างที่ดีให้ประเทศไทยเรามากเพียงใด เราก็ควรต้องศึกษาถึงความเหมาะสมในการนำกฎหมายของต่างประเทศมาใช้ในบ้านเราอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนโดยทั่วไปและประเทศชาติจะได้รับจากการรับเอากฎหมายของต่างประเทศเข้ามาใช้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ว่า

“... ถ้าประชาชนคือบุคคลที่ประกอบเป็นชาตินี้มีความรู้พอในกฎเกณฑ์ต่างๆที่วางเอาไว้ดีก็จะทำให้การปกครองเป็นไปโดยเรียบร้อยมีความสงบตามตัวบทกฎหมายความรู้นี้ได้บ่งเอาไว้ในหลักการที่ว่าบุคคลทุกคนย่อมทราบในกฎหมายแต่ว่าก็เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าประชาชนทั่วๆไปถ้าไม่ได้เรียนรู้กฎหมายก็ย่อมไม่ทราบกฎหมายจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความรู้ที่จะต้องพยายามหาหนทางช่วยให้ทุกคนได้มีความรู้ในสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคลเพื่อให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีขื่อมีแป ...

ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พระบรมราโชวาทดังกล่าวจะเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดแนวทางหนึ่งในการพัฒนาประเทศนับจากนี้ไป ทั้งนี้ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาได้มีกฎหมายใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก แม้ว่าหลักกฎหมายจะถือว่าประชาชนต้องรู้กฎหมาย แต่รัฐก็ควรที่จะต้องมีนโยบายและดำเนินการในการให้การศึกษาและข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ อย่างทันท่วงทีอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจทั้งในตัวบทกฎหมาย ที่มา และเหตุผลของกฎหมาย เพื่อการนำไปใช้หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบังคับใช้ได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ สมเจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย

ทั้งนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตต่อไป ทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกันในการดำเนินรอยตามพระราชดำริในทุกๆ ด้าน ในส่วนของการพัฒนากฎหมายและการพัฒนาบ้านเมืองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเกื้อหนุนนั้น ผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาครัฐจะดำเนินการส่งเสริมการให้ความรู้ที่เป็นปัจจุบันและเข้าใจได้ง่ายแก่ประชาชนในด้านกฎหมายมากยิ่งขึ้น โดยอาจทำผ่านสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนให้มากที่สุด ดังที่เคยทรงมีพระราชดำรัสว่า “...หลักที่ว่าทุกคนต้องทราบถึงกฎหมายและต้องทำตามกฎหมายนั้นรู้สึกว่าบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายไม่ถึงประชาชน ต้องนึกบ้างว่าเป็นความผิดทางราชการ ที่ไม่สามารถจะนำกฎหมายไปให้ถึงประชาชน...

------------------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่