ความยุติธรรม ... ของใคร

ความยุติธรรม ... ของใคร

ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของบริษัท

ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของบริษัท จึงทำให้ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

กิตติพงษ์เป็นคนเรียนเก่งของรุ่นและมีประวัติการศึกษาที่หาคนเทียบได้ยาก คือจบปริญญาโทกฎหมาย 2 ใบ จาก Cornell University และ Harvard University และจบปริญญาเอกกฎหมายจาก Stanford University ซึ่งล้วนเป็นมหาวิทยาลัยระดับสุดยอดของโลก และเป็นการเรียนแบบได้รับทุนทั้งสิ้น (ทุน ก.พ. และทุน Fulbright)

ด้วยความสามารถอันโดดเด่นนี้ จึงทำให้กิตติพงษ์มีทางเลือกมากมาย แต่กิตติพงษ์ได้เลือกทำงานในสายของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการอำนวยความยุติธรรมมาโดยตลอด เริ่มจากการเป็นอัยการแล้วย้ายมาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนได้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม แล้วก็ได้ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนดเกษียณอายุเพื่อไปทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ –Thailand Institute of Justice) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักนิติธรรม (Rule of Law) และเพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย

บทบาทของกิตติพงษ์ในการผลักดันให้มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยมายาวนานทำให้ผมชื่นชม และหวนคิดไปถึงหนังสือ Justice: What’s the Right Things to Do? ของ Prof. Michael J. Sandel ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชา Justice อันเป็นวิชาปรัชญาแขนงหนึ่งใน Harvard University โดยเป็นวิชายอดฮิตติดต่อกันมานานเกือบ 30 ปี มีนักศึกษาเข้าฟังการบรรยายมากจนถึงขนาดต้องไปสอนกันในโรงละครของมหาวิทยาลัย

ในหนังสือ Justice นี้ Prof. Sandel ได้หยิบยกตัวอย่างมากมายมาทดสอบวิธีคิดของคนอ่านเกี่ยวกับพื้นฐานความเชื่อในเรื่อง 'ความยุติธรรม' ของแต่ละคน

ตัวอย่างหนึ่งที่มีคนนำไปพูดต่อกันมาก คือ กรณีสมมุติที่ว่ารถรางเบรกแตกกำลังจะพุ่งเข้าชนคนงาน 5 คนที่กำลังทำงานอยู่บนราง ซึ่งจะทำให้ทั้งหมดเสียชีวิตอย่างแน่นอน แต่ในนาทีคับขันนั้น คนขับสามารถเบี่ยงรถออกไปยังอีกรางหนึ่งได้ โดยรถจะวิ่งไปชนคนงานที่ทำงานอยู่บนอีกรางหนึ่งซึ่งมีอยู่เพียงคนเดียวเสียชีวิต

การเลือกชนคนบริสุทธิ์ 1 คนเสียชีวิต เพื่อแลกกับชีวิตคนบริสุทธิ์ 5 คนในกรณีนี้ เป็นเรื่องที่ยุติธรรมและสมควรกระทำหรือไม่

ในตัวอย่างเดิมแต่เปลี่ยนข้อสมมุติใหม่เป็นว่าคนขับไม่มีทางเลือก รถรางเบรกแตกจะต้องวิ่งเข้าชนคนงาน 5 คนเสียชีวิตทั้งหมด แต่คนอ่านเป็นผู้เห็นเหตุการณ์นี้ แต่ในนาทีคับขันนั้น คนอ่านสามารถผลักผู้ชายแปลกหน้าร่างใหญ่มากที่ยืนอยู่ข้างหน้าให้รถรางวิ่งชน ซึ่งจะทำให้รถรางวิ่งช้าลงมากจนคนงานทั้ง 5 คนหลบทันและปลอดภัย แต่ผู้ชายร่างใหญ่ที่ถูกผลักให้รถรางชนนั้นเสียชีวิตทันที

การเลือกผลักคนบริสุทธิ์ 1 คนไปตายเพื่อแลกกับการให้คนบริสุทธิ์อีก 5 คนมีชีวิตอยู่ต่อไปในกรณีนี้ เป็นเรื่องที่ยุติธรรมและสมควรกระทำหรือไม่
หากความเห็นของคนอ่านแตกต่างกันใน 2 กรณีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในคนทั่วๆ ไป เราจะสามารถหาคำอธิบายได้อย่างไร

ผมชื่นชมที่คนเก่งอย่างกิตติพงษ์เลือกเส้นทางนี้เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม เพราะการหาคำตอบให้แก่คำถามในตัวอย่างทั้งสองนี้ รวมทั้งอีกหลายๆ ตัวอย่างที่ Prof. Sandel หยิบยกขึ้นมา เป็นเรื่องยากและสามารถถกเถียงกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละบุคคลว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรกระทำ (What’s the Right Things to Do?) ซึ่งจะอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อทางการเมือง เศรษฐศาสตร์ สังคม และศีลธรรมเป็นหลัก จนกลายเป็นเรื่องของดุลพินิจส่วนบุคคล ดังเช่นที่ Prof. Sandel กล่าวไว้ในหนังสือว่า Justice is inescapably judgmental