คำสอนของพ่อ

คำสอนของพ่อ

คำสอนของพ่อ

ณ เวลานี้ ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่จะบรรเทาความทุกข์เทวษอันใหญ่หลวงของคนไทยทั้งชาติลงได้ หลังทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงของปวงชนชาวไทย และพ่อของแผ่นดิน

จะมีผู้ใดในแผ่นดินนี้ที่เมื่อล่วงไปแล้ว จะนำมาซึ่งความวิปโยคโศกเศร้าอย่างหาที่สุดมิได้แก่ทุกผู้ทุกนามทุกชั้นวรรณะ เมื่อใดที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวของพระองค์ หลายคนก็ไม่อาจที่จะระงับน้ำตามิให้รินไหลออกมาได้

ผู้เขียนและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันจำนวนมาก นับว่ามีความโชคดีอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เกิดมาทันเห็นพระองค์ท่านทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันหนักหน่วงในดินแดนห่างไกลและทุรกันดาร โดยหลายครั้งในวัยเด็กก็ให้สงสัยว่าทำอย่างไรจึงจะได้เห็นในหลวงพระองค์จริงกับเขาบ้าง จำได้ว่าคำถามนี้ได้รับคำตอบว่า เราไม่ลำบากพอ ไม่ได้เจอท่านหรอก ถ้าอยากจะเจอท่านก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ จะได้เจอพระองค์จริง ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์

เมื่อเป็นนิสิตพวกเราได้เห็นห้วงเวลาการต่อสู้นองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วันที่ดูเหมือนประเทศจะไร้ซึ่งทางออก แต่แล้วโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ก็ได้เผยแพร่ภาพในหลวงทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าอันประกอบด้วยผู้นำการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย

พระราชดำรัสนั้นมีความตอนหนึ่งว่า “...ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ....”

“…แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง…” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535)

เชื่อว่าพระราชดำรัส และภาพเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

และเมื่อพวกเราเริ่มต้นชีวิตการทำงานในสายงานที่ร่ำเรียนมาได้ไม่นาน ก็ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของเอเซีย ธุรกิจล่มสลาย ผู้คนจำนวนมากตกงาน บ้านรถถูกยึด จำได้ว่าก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างก็รอฟังพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ

อันมีความตอนหนึ่งว่า “…การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

“...เงินที่จะให้เขาก็มี แต่ถ้าให้เงินเขาแล้ว เขาก็เอาไปใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผลอย่างผู้ที่ขอกู้สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็นการทำให้คนยิ่งเสียใหญ่ อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...” (พระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540)

จะเห็นได้ว่าในหลวงทรงสอนวิชาวางแผนทางการเงินให้กับพวกเรา ก่อนที่จะมีศาสตร์ด้านนี้เผยแพร่เป็นการทั่วไปในประเทศไทยดังเช่นทุกวันนี้

แม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด แต่พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรอันงดงามด้วยทศพิธราชธรรมของพระองค์ จะสถิตย์อยู่ในดวงใจพสกนิกรทุกหมู่เหล่าตราบนิจนิรันดร์

ข้าพระพุทธเจ้าขอร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนชาวไทยทั้งปวงน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้