ปฏิรูปเพื่อรองรับ Fintech

ปฏิรูปเพื่อรองรับ Fintech

ช่วงนี้กระแสที่กำลังมาแรงในบ้านเรา และในแวดวงการเงิน คือ เรื่อง Financial Technology หรือ Fintech

ใครไม่พูดถึงหรือไม่รู้ว่า Fintech คืออะไรต้องถือว่าตกเทรนด์ ธนาคารทุกแห่งไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก รวมทั้งสถาบันการเงินเกือบทุกประเภท ต่างก็กำลังขะมักเขม้นปลุกปั้นหน่วยงาน Fintech เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ในแวดวงสื่อสารกับ IT ก็มีการจัดตั้งกองทุนกันมากมายเพื่อลงทุนใน Fintech Startups รัฐบาลเองก็สนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งนายกฯ ประยุทธ์ ยังพูดถึง Fintech อยู่บ่อยครั้งเวลาท่านพูดเรื่องเศรษฐกิจ 

ตัวผมเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง Fintech เพราะได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้เป็นประธานคณะทำงานเพื่อหาแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงิน

ก่อนที่ผมจะเข้าเรื่องว่าคณะเราตั้งใจจะเสนออะไรบ้าง ผมขออธิบายสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยติดตามเรื่องนี้ ว่า Fintech เข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินสะดวกสบายขึ้น ถูกลง และ ไม่จำเป็นต้องผ่านสถาบันทางการเงินเสมอไป ส่วน Fintech Startups คือผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น Paypal ที่ให้บริการชำระเงินเวลาเราสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต หรือ Lending Club ที่ให้บริการสินเชื่อ Online แก่ SME เป็นต้น

หลายคนอาจสงสัยว่า Fintech เกิดขึ้นได้อย่างไร? แน่นอนว่า การที่เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค มีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ Fintech เกิดขึ้น แต่ต้นเหตุหลักจริงๆ มาจากความไม่พอใจของผู้บริโภคในบริการของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สะดวกสบาย ไม่ทั่วถึง และราคาที่สูง ทำให้ Fintech Startups ในหลายประเทศ อาศัยโอกาสเหล่านี้พัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และมีราคาถูกลงกว่าเดิม

สำหรับไทย พัฒนาการด้าน Fintech ต้องถือว่าค่อนข้างช้า โดยเฉพาะถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านเราอย่าง สิงคโปร์ ที่ไปไกลกว่าเรามาก Fintech Startups ในไทยยังมีน้อย และยังไม่มีรายไหนที่มีขนาดใหญ่พอที่จะสู้กับสถาบันการเงินได้ เหตุผลหลักไม่ใช่เรื่องเงินทุนอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินบ้านเรายังไม่พร้อมที่จะทำให้ Fintech เกิดได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรีบแก้ไข เพราะ Fintech จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของโลกการเงินในอนาคต พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศที่มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นน้อยและช้า จะเป็นประเทศมีพัฒนาการของตลาดการเงินและระบบการเงินที่ล้าหลัง ซึ่งก็จะทำให้ภาคธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะต้องใช้บริการทางการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมีราคาแพง

ถึงแม้รัฐบาลไทยจะพูดเสมอว่าสนับสนุน Fintech เต็มที่ แต่ตราบใดที่ปัญหาเบื้องต้นยังไม่ถูกแก้ไข เช่น โครงสร้างพื้นฐานของระบบบ้านเราที่ยังใช้กระดาษเป็นหลักฐาน และไม่รองรับการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ตลอดขั้นตอน หรือ กฎเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลที่ไม่ยืดหยุ่นและไม่บูรณาการ หรือ การขาดกลไกการจัดการความเสี่ยง Cyber Risks ที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ ผมเชื่อว่ายากที่เราจะเห็นพัฒนาการ Fintech ที่ก้าวกระโดดในบ้านเรา

เป้าหมายหลักที่คณะทำงานผมตั้งใจจะทำ คือการปฏิรูประบบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมทางการเงิน ในเบื้องต้น คาดว่าเราจะมีข้อเสนอประมาณนี้

1. แก้กรอบกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้ยอมรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมตลอดกระบวนการ

2. สร้าง Common Infrastructure เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำไปต่อยอดได้ง่าย รวมทั้งสร้างฐานข้อมูล National Data Pool ที่รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่หลายที่ เช่น ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลเครดิตบูโร ฯลฯ และเปิดให้มีการเชื่อมต่อ เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

3. จัดให้มีสนามทดลอง ซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่น และบูรณาการการกำกับดูแลระหว่างทุกหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับ Fintech ทั้งหมดเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์

4. พัฒนาบุคลากรด้าน IT เพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมการดึงคนจากต่างประเทศมาเติมเต็มทักษะที่ขาด

5. สร้างเครือข่ายที่ดูแล Cyber Risk และความปลอดภัยของ Critical Infrastructure ระดับชาติ