15 ต.ค. ชี้ชะตาไทย 'บิดเบือนค่าเงิน'

15 ต.ค. ชี้ชะตาไทย  'บิดเบือนค่าเงิน'

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึง แนวทางในการ “ดูแลค่าเงินบาท”

 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ดูเหมือนจะทุ่มสรรพกำลัง ในการดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่า จนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

เฉพาะปีนี้ ธปท. น่าจะ เข้าซื้อเงินดอลลาร์ รวมกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของจีดีพี

ความพยายามดังกล่าว ส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวในระดับกลางๆ ของภูมิภาค เอื้อต่อผู้ประกอบการภาคส่งออก ทำให้ การส่งออก ของไทยดูจะ เลวร้าย น้อยกว่าคาด ที่สำคัญยังหดตัวน้อยกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคด้วย

แต่ความพยายามที่ว่านี้ ทำให้ไทย ถูกจับจ้อง จากผู้ลงทุนต่างประเทศเช่นกัน .. โดยเริ่มมีการตั้งคำถามจากสถาบันการเงินต่างประเทศว่า การซื้อเงินดอลลาร์จำนวนมากของ ธปท. จะทำให้ไทย มีความเสี่ยง ที่จะติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ บิดเบือนค่าเงิน เพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐหรือไม่

ตามเกณฑ์กระทรวงการคลังของสหรัฐ ว่าด้วยเรื่องประเทศที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน เพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐ ประกอบด้วย 3 ข้อ คือ 1. มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกินกว่า 3% ของจีดีพี 2. มีการแทรกแซงค่าเงินในตลาดการเงินมากกว่า 3% ของจีดีพี และ 3. มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

กรณีของไทยถ้าเทียบตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนจะเข้า 2 ใน 3 ข้อ ..ซึ่งแค่นี้ก็ทำให้เราติดอยู่ในกลุ่ม มอนิเตอริ่ง ลิสต์ หรือ กลุ่มเฝ้าจับตา โดยกระทรวงการคลังสหรัฐแล้ว

จากการประกาศรายชื่อโดยกระทรวงการคลังสหรัฐ เมื่อเดือนเม.ย.2559 มี 5 ประเทศที่ติดในกลุ่ม คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ เยอรมัน .. ครั้งนั้นยังไม่มีชื่อประเทศไทย เพราะช่วงนั้น การเข้าดูแลในตลาดการเงินของ ธปท. ยังไม่เข้าตามเกณฑ์ ซึ่งตามเกณฑ์เข้าใจว่าต้องซื้อต่อเนื่อง 8 เดือนติดกัน

การประกาศรายชื่อครั้งใหม่ จะมีขึ้นวันที่ 15 ต.ค.นี้ ทำให้ ธปท. ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตาม ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. เชื่อว่า เกณฑ์ของสหรัฐที่ว่านี้ ต้องการจะจับ ปลาใหญ่ มากกว่าจะมาสน ปลาเล็ก อย่างเรา และการที่ไทยไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐ ก็น่าจะทำให้เรารอดพ้นจากกฎเกณฑ์นี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อยากเขียนถึงในครั้งนี้ ไม่ได้อยากจะบอกว่า “ไทย” จะติดอยู่ในประเทศที่เข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินหรือไม่ เพียงแต่อยากจะบอกว่า ธปท. คงไม่สามารถเข้าดูแลค่าเงินได้ตลอด เพราะการเข้าดูแลทุกบาท..ทุกดอลลาร์ ล้วน มีต้นทุนดังนั้นผู้ประกอบการส่งออก จึงควรเตรียมใจและเตรียมแผนที่จะดูแลตัวเองเอาไว้บ้าง!