ต้องกันเงินไว้ในกระเป๋าเท่าไรดี

ต้องกันเงินไว้ในกระเป๋าเท่าไรดี

ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มันต่ำมาก ต่ำจนบางครั้งผมแทบไม่รู้สึกว่าได้ดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ

วันนี้คุยกันเรื่อง ง่าย ๆ เบสิค ๆ กับเรื่องของ 'เงินเผื่อใช้' หรือ 'สภาพคล่อง' นั่นแหละครับ หลายคนมุ่งมั่นลงทุนหมดจนลืมเผื่อเรื่องเงินสภาพคล่อง แต่วันดีคืนร้าย เกิดเหตุด่วนต้องรีบใช้เงิน แต่เอาไปลงทุนหมดก็ต้องขายสิครับ แน่นอนว่าหุ้นมีความผันผวนถ้าช่วงดีก็ไม่เป็นไรขายไปมีกำไรเอาไปใช้ไม่เสียหาย และถ้าช่วงหุ้นไม่ดีต้องขายออก สุดท้ายรับรู้ขาดทุนอย่างไม่ตั้งใจ แต่ต้องขายเพราะไม่ได้เตรียมเผื่อใช้สภาพคล่องไว้ นี่ยังดีกว่าอีกแบบ คือใช้เพลินจนลืมกันสำรองสภาพคล่อง สุดท้ายจบที่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ส่วนอีกจำพวกปล่อยให้ล้นโดยไม่บริหาร สุดท้ายใช้ให้เงินทำงานได้ไม่เต็มที่ ฝากแบงก์ทุกบาททุกสตางค์ แทบไม่มีผลตอบแทน ไม่คุ้มค่า ซึ่งผมมั่นใจว่าเงินส่วนนี้(เงินเผื่อใช้) เป็นสิ่งที่ทุกคนมี จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ละคนไป แต่วันนี้เราจะมาคุยกันถึงความสำคัญและปริมาณที่เหมาะสมของสภาพคล่องครับ

ชีวิตคนเรามันไม่แน่นอนครับ งานดี ๆ เงินงาม ๆ ที่มีอยู่กับเราวันนี้วันนึงมันอาจจะหายไป แต่สิ่งที่ไม่มีวันหายไปแน่นอนคือค่าใช้จ่าย แล้วถ้าวันนั้นมาถึง เงินเผื่อใช้ หรือสภาพคล่องนี่แหละ จะเป็นเงินส่วนที่เราเอามาใช้จ่ายในยามที่รายได้หลักหายไป หรือมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเข้ามาโดยคิดฝัน โดยการจัดสรรเงินส่วนนี้ต้องจัดให้พอเหมาะ เพราะถ้าน้อยไปอาจะเกิดปัญหาเงินขาด ชักหน้าไม่ถึงหลัง และต้องสร้างหนี้ในที่สุด แต่ถ้ามากไปก็จะสูญเสียโอกาสนำเงินนั้นไปลงทุน

โดยทั่วไปแล้วอัตราส่วนสภาพคล่องที่ดีนั้น จะถูกกำหนดไว้ที่ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ตรงตามเกณฑ์ขนาดนั้น เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน โดยมีแนวทางง่าย ๆ ดังนี้ครับ

• ถ้าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่ว ๆ ไป ไม่ได้ต้องดูแลอุปการะใครมาก คุณควรมีเงินเผื่อใช้ หรือสภาพคล่อง 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนเป็นอย่างน้อย เผื่อไว้ถ้าตกงาน หรืออยากหางานใหม่ ก็ยังมีเวลาให้เดินเตะฝุ่นเล่น หางานใหม่ได้ถึง 3 เดือน

• แต่ถ้าคุณเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน มีลูกที่ต้องเลี้ยงดู คุณควรเก็บไปเลยอย่างน้อย 6 – 10 เท่า เพราะคุณรับความเสี่ยงได้ไม่เท่าคนที่ไม่มีครอบครัว

• แล้วยิ่งถ้าคุณทำงานเป็น Freelance อาชีพอิสระอันนี้ต้องเตรียมเผื่อไปเลย 8-12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีใครที่ต้องดูแลก็ตาม (ถ้ามียิ่งต้อง + ไปมากกว่านี้) เพราะด้วยการเป็น Freelance คุณกำหนดเวลารับเงิน ไม่ได้เลย รายได้มีความไม่แน่นอน ฉะนั้นความเสี่ยงจะมีสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ อยู่มาก

ทีนี้คุณจะเห็นแล้วว่าเกณฑ์ในการที่ใช้กำหนดจำนวนเงินเผื่อใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของรายได้ และรวมถึงคนที่อยู่ภายในการดูแลของเราด้วยครับ คนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ ควรคำนวณก่อนเลยว่าเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ แล้วพอเงินเดือนออกก็อย่าเพิ่งเอาไปทำอะไร เก็บเงินส่วนนี้ไว้ให้ถึงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เผื่อวันนึงที่รายได้ส่วนนี้หายไป เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้โดยไม่ต้องเป็นหนี้ครับ

แล้วเงินผื่อใช้ หรือสภาพคล่อง เอาไปทำอะไรดี ?

เงินเผื่อใช้ หรือสภาพคล่องที่เรากันไว้ใช้ยามฉุกเฉินที่ผมแนะนำไปนั้น คุณอาจจะกันไว้ในบัญชีออมทรัพย์อย่างเดียวเลยก็ได้ แต่อีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนกว่าคือการซื้อ ‘กองทุนตลาดเงิน’ ซึ่งเป็นกองทุนความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากเรียกได้ว่าเป็นการ 'จัดระเบียบกระเป๋าเงิน … ผ่านกองทุนตลาดเงิน' 

• กองทุนตลาดเงิน คือกองทุนตราสารหนี้แบบหนึ่ง ที่จะลงทุนในตราสารพวกเงินฝากระยะสั้น ตั๋วแลกเงิน (เอกชน) ตั๋วเงินคลัง (รัฐบาล) หรือตราสารหนี้อื่น ๆ ที่มีอายุเฉลี่ยตราสารอยู่ที่ 3–6 เดือน

• ความเสี่ยงต่ำ โอกาสขาดทุนก็น้อยมาก สภาพคล่องก็สูง ขายวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้เงิน

• ผลตอบแทนโตขึ้นทุกวัน วันละนิด ๆ แต่เงินคุณงอกเรื่อย ๆ ผลตอบแทนเฉลี่ยมีให้เลือกตั้งแต่ 1.0% – 2.0% ต่อปีเลย ในขณะที่ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มันต่ำมาก ต่ำจนบางครั้งผมแทบไม่รู้สึกว่าได้ดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ และที่สำคัญผลตอบแทน หรือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้รับการยกเว้นภาษีครับ

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมด จึงเหมาะที่จะใช้แทนเงินฝากออมทรัพย์ และเมื่อคุณกันในส่วน 'เงินเผื่อใช้' หรือ 'สภาพคล่อง' เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือไปลงทุนสินทรัพย์อื่นที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า อย่างอสังหา ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่มีความผันผวนอย่างหุ้นได้อย่างไม่ต้องกังวล