ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมฟินเทค (Fin Tech) ในประเทศไทย

ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมฟินเทค (Fin Tech) ในประเทศไทย

อุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาโดยเมื่อไม่นานมานี้สตาร์ทอัพที่กำลัง

ได้รับความนิยม อย่างเช่น Piggipo, Stock Radars, Peak Engine, Flowaccount และ Finnomena ได้รับเงินลงทุนจากธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) และธนาคารต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารไทยหลายแห่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ได้เริ่มมีแผนการลงทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจฟินเทคและเพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทยตั้งแต่ยุคเริ่มต้น

ทั้งนี้คำว่า ฟินเทค คือ มาจากคำว่า “Finance” กับคำว่า “Technology” โดยเป็นการนำระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากเดิมที่ใช้บริการทางการเงินของธนาคารทั่วไปมาเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือแทน

ตั้งแต่อุตสาหกรรมฟินเทคได้เริ่มเปิดตัวขึ้นในประเทศไทย ก็เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับผลกระทบจากฟินเทคจนทำให้มีการหยุดการขยายสาขา และเริ่มมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือกองทุนของธนาคารเพื่อมุ่งเน้นการให้เงินลงทุนสนับสนุนแก่อุตสาหกรรมฟินเทคโดยเฉพาะ

ในการนี้หน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับธุรกิจการเงิน การธนาคาร และการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลและสนับสนุนธุรกิจฟินเทค โดยในปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการออกกฎเกณฑ์ที่จะมีส่วนในการช่วยหนุนธุรกิจฟินเทคบ้างแล้ว กล่าวคือ ได้มีการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Crowdfunding) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ รวมถึงธุรกิจฟินเทคสามารถระดมทุนจากประชาชนหมู่มากผ่านเว็บไซต์ตัวกลางโดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเตอร์เน็ตได้

นอกจากนี้ในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) ของ ก.ล.ต. ได้บรรจุเรื่องฟินเทคเข้าไปในแผนด้วย โดยมีพันธกิจหลักในการปรับแนวทางการให้ใบอนุญาตในตลาดทุนให้หลากหลายขึ้น โดยเบื้องต้นจะปรับปรุงใน 4 เรื่อง ได้แก่

  1. โครงสร้างของการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (Licence)
  2. เกณฑ์ขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนของธุรกิจ
  3. คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต และ
  4. เกณฑ์การกำกับดูแล

ซึ่งภายในปี 2559 นี้น่าจะได้เห็นความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว

ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสถาบันการเงินและผู้ประกอบการโดยร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย (ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งเป็นสมาคม) เพื่อออกกฎเกณฑ์เพื่อสร้างเอกภาพในแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคอยู่ อีกทั้งอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ (National FinTech Sandbox - NFS) เพื่อเป็นตัวเร่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคและเป็นศูนย์บ่มเพาะหลักสำหรับผู้ประกอบการเพื่อให้อุตสาหกรรมฟินเทคของไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลจะออกมานั้นจะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด หรือจะสร้างอุปสรรคให้แก่เหล่าบริษัทสตาร์ทอัพฟินเทคกันแน่ ซึ่งยังเป็นข้อกังวลอยู่ ณ ขณะนี้

แล้วพบกันใหม่ในคราวต่อไปค่ะ

------------------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่