รู้-รับความเสี่ยง เตรียมพร้อมลงทุน

รู้-รับความเสี่ยง เตรียมพร้อมลงทุน

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน สำหรับการลงทุนในเดือนนี้ ดิฉันคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงสถานการณ์ความกังวลที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารของยุโรป

ได้ โดยความกังวลได้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016 เนื่องจาก นักลงทุนกังวลว่าธนาคารดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีอาจไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ด้อยสิทธิชนิดหนึ่งที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า Contingent Convertible Bond (CoCo Bond) ได้ เนื่องจาก การประกาศผลประกอบการในปี 2015 Deutsche Bank ขาดทุนสูงถึง 6.8 พันล้านยูโร ทำให้ราคาหุ้นของ Deutsche Bank และของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ปรับลดลงค่อนข้างมาก และหลังจากนั้น ความกังวลในภาคธนาคารของยุโรปก็ได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของอิตาลี ซึ่งมีชื่อว่า Monte dei Paschi di Siena (MPS) ได้เปิดเผยระดับ NPLs ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และธนาคาร MPS ไม่สามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress test) ภาคธนาคาร ช่วงปลาย เดือน ก.ค.ได้  

 นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่ได้สร้างความวิตกกังวลต่อตลาดการเงินโลกในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก คือ กรณี Deutsche Bank ได้ถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯฟ้องร้อง ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (Mortgage Backed Securities: MBS) อันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 โดย Deutsche Bank อาจเผชิญค่าปรับที่มีมูลค่าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สรอ. สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่า Deutsche Bank อาจต้องเพิ่มทุน และไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย CoCo Bond ได้ ประกอบกับเฮดจ์ฟันด์กว่า 10 แห่งที่ทำธุรกิจกับ Deutsche Bank นั้นต่างพากันปิดสัญญาที่ได้ทำธุรกรรมไว้กับธนาคารฯ ส่งผลให้นักลงทุนต่างพากันเทขายหุ้น และทำให้ราคาหุ้น Deutsche Bank ปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า มูลค่าของค่าปรับน่าจะปรับลดลงได้ โดยล่าสุดมีรายงานข่าวว่า Deutsche Bank อาจสามารถเจราจาลดค่าปรับลงอยู่ที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่ำกว่าที่ทางการสหรัฐฯได้ฟ้องร้อง เนื่องจาก ในอดีตได้มีธนาคารหลายแห่งของสหรัฐฯ ต่างก็ประสบปัญหาเรื่องการฟ้องร้องในคดี MBS เช่นเดียวกัน โดยธนาคารเหล่านั้นก็สามารถเจรจาต่อรองค่าปรับได้ จนท้ายสุดเหลือค่าปรับเพียงประมาณ 30-40% ของค่าปรับจริงเท่านั้น เช่น โกลด์แมน แซคส์ เป็นต้น ส่วนกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ กรณีที่ Deutsche Bank ล้มละลาย และส่งผลลบต่อธนาคารอีกหลายแห่ง ทั้งในยุโรป จีน และสหรัฐฯ เนื่องจาก ธนาคารเหล่านี้ต่างมีธุรกรรมกับดอยซ์แบงก์ทั้งสิ้นนั้น ซึ่งคาดว่ากรณีนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมาก แม้ว่าในรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเคยออกมาระบุว่า Deutsche Bank เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารที่สำคัญทั่วโลกก็ตาม แต่การที่ Deutsche Bank เป็นธนาคารขนาดใหญ่ รัฐบาลย่อมจะไม่ต้องการที่จะปล่อยให้ล้ม (Too Big to Fail)

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่อง  Deutsche Bank และนักลงทุนยังกังวลต่อภาคธนาคารในยุโรปที่มีความเปราะบางอยู่นั้น ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนในตลาดการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญของอิตาลี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมทั้งวิกฤตหนี้และความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน เป็นต้น ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่ตลาดการเงินโลกจะเคลื่อนไหวแบบไม่มีทิศทางที่แน่นอน (Sideway) นักลงทุนบางส่วนอาจหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลของประเทศต่างๆ  ซึ่งที่ผ่านมาราคาก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว ทำให้ทางเลือกในการลงทุนมีไม่มากนัก

 

ภายใต้ภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวนในปัจจุบัน ทางเลือกหนึ่งในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน คือ การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยนักลงทุนควรกระจายน้ำหนักการลงทุนทั้งในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade Bond) และที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (Non-Investment Grade Bond หรือ High Yield Bond) เพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มสำหรับการลงทุน (Yield Enhancement) โดยตราสารที่ลงทุนควรเป็นตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น (ไม่เกิน 3 ปี) เนื่องจากโอกาสในการที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีน้อยกว่าตราสารหนี้อายุยาว นอกจากนี้ นักลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีการกำหนดอายุโครงการไว้ในระยะสั้น 3-6 เดือน (Term Fund) เพื่อรอจังหวะในการเข้าลงทุน เมื่อภาวะความผันผวนของตลาดการเงินโลกปรับลดลง และมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน ทั้งตลาดพันธบัตรรัฐบาลและตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมต่อไป