จับสัญญาณบวก กำลังซื้อ-โฆษณา

จับสัญญาณบวก กำลังซื้อ-โฆษณา

ใกล้จบ 3 ไตรมาสแรกปีนี้ เริ่มเห็นสัญญาณกระเตื้อง

ของหลายอุตสาหกรรมสำคัญ 

กระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออกเดือนส.ค.2559 ขยายตัว 6.5% เป็น“บวก”ครั้งแรกรอบ 5 เดือนและสูงสุดในรอบ 6 เดือน แม้ยอดรวม 8 เดือนยัง“ติดลบ” 1.19%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในเดือนส.ค.ที่ 9% มาจากสินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ

ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ส.ค. มีจำนวน 63,619 คัน เพิ่มขึ้น 2.6% เป็นการเติบโตของตลาดรถยนต์นั่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่4 จากแรงบวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของภาครัฐ ที่เริ่มส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ครึ่งปีหลัง สำหรับยอดขายสะสม 8 เดือน มีจำนวน 492,884 คัน เพิ่มขึ้น 0.2%

ด้านภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทยที่มีมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท ปีที่ผ่านมาเติบโต 2.2% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน ภัยแล้ง และสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อกำลังซื้อในต่างจังหวัด อยู่ในภาวะถดถอย

      ล่าสุด กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 4,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ด้านการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้ พบแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดตั้งแต่ไตรมาส2 พบเติบโต 2.5%

โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่เห็นสัญญาณบวกช่วงไตรมาส2 หลังจากกำลังซื้อ“ติดลบ”ต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับกำลังซื้อกรุงเทพฯและเขตเมืองที่เห็นตัวเลขขยับขึ้นต่อเนื่อง

จากสถิติปี 2555  การจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโต 11% เป็นการฟื้นตัวสูงสุดหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปลายปี2554  จากนั้นปี 2556 โตลดลงอยูที่ 7.7% ปี 2557 โต 2.6% ปี2558 โต 2.2%  คาดการณ์ปีนี้ฟื้นตัวกลับมาเติบโตที่ 2.7-3%

กลุ่มที่เติบโตมาจากสินค้าในครัวเรือน 3% ,สินค้าส่วนบุคคลเติบโต 6.3% และสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม 1.2% 

เมื่อทิศทางภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อเริ่มส่งสัญญาบวก อุตสาหกรรมโฆษณา ที่มีกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและรถยนต์เป็นผู้ใช้งบประมาณรายใหญ่ จึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเช่นกัน 

นีลเส็น ประเทศไทย รายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม เดือน ส.ค.2559 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่า 10,140 ล้านบาท ลดลง 2.46% ถือเป็นอัตรา“ติดลบ” ที่กระเตื้องขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่เฉลี่ยติดลบ 7% ขณะที่ภาพรวมงบโฆษณาผ่านสื่อ 8 เดือน มีมูลค่า 76,882 ล้านบาท ติดลบ 6.04% 

การติดลบของอุตสาหกรรมโฆษณามาจากสื่อทีวีที่ครองส่วนแบ่งราว 60% อยู่ในภาวะติดลบ โดยเฉพาะ ทีวีอนาล็อก” ที่เม็ดเงินลดลงต่อเนื่องหลังจากทีวีดิจิทัล ช่องใหม่เริ่มออกอากาศ

ฟากทีวีดิจิทัล หลังจากตัวเลขติดลบมาตลอด 7 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.)เริ่มกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาที่อัตรา 12.44%  หนุนให้ภาพรวม 8 เดือนพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 4.76% มูลค่า 14,819 ล้านบาท

ไตรมาสสุดท้ายที่เข้าสู่ไฮซีซันการจับจ่ายและใช้งบโฆษณา เริ่มส่งสัญญาณบวกเช่นกัน คงต้องมารอลุ้นตัวเลข 3 เดือนสุดท้ายว่าจะดันตัวเลขสิ้นปีนี้ให้โฆษณากลับมาอยู่ในแดนบวกได้หรือไม่