ค่าจ้างขั้นต่ำ ช่วยแรงงานจริงหรือ?

ค่าจ้างขั้นต่ำ ช่วยแรงงานจริงหรือ?

ค่าจ้างขั้นต่ำ นับว่าเป็นเจตนาดีที่ต้องการให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นและส่งผลดีในระยะสั้น แต่ทิ้งผลกระทบระยะ

ยาวไว้เบื้องหลัง และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ถ้าเช่นนั้น การกำหนดหรือปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ช่วยทำให้แรงงานดีขึ้นจริงหรือ?

แม้ว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐบาล ที่พยายามจะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานด้วยการออกมาตรการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ด้วยเข้าใจว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากร และทำให้การกระจายรายได้เป็นธรรมมากขึ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยกระทรวงแรงงานได้มีประกาศจากคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท โดยบังคับใช้ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ ณ วันนี้ กลับกลายเป็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อสามปีก่อน กลับไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงานในปัจจุบัน จนต้องมีการเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย 360 บาทต่อวัน

เจตนาดีในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ดูเหมือนว่ามีผลดีต่อแรงงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคในระยะสั้น (เช่น การลงทุนภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อ การจ้างงาน และการว่างงานหรือการเลิกจ้างแรงงาน เป็นต้น) แต่กลับส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับจุลภาค โดยเฉพาะสถานประกอบการ กิจการ SMEs และอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงานเข้มข้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจลดลง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวโดยลดการจ้างงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า หรือผู้ประกอบการบางรายอาจถึงกับต้องล้มเลิกกิจการ

ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ประกอบการเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อแรงงานด้วยเช่นกัน เพราะการที่ภาคธุรกิจต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหรือปิดกิจการลง เท่ากับว่าแรงงานไทยบางกลุ่มต้องตกงาน

ในขณะเดียวกัน การผลิตที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่นนั้นแล้ว ประชาชนทั่วไปซึ่งรวมถึงแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในฐานะผู้ซื้อสินค้าและบริการ ต้องแบกรับภาระจากการที่ราคาสินค้าสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในกรณีที่ผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะซื้อสินค้าอื่นมาทดแทนสินค้าที่ซื้ออยู่เดิม ภาคธุรกิจจึงต้องลดการผลิต ทำให้ต้องลดการจ้างแรงงานลง แรงงานในภาคธุรกิจนั้นๆ จากที่เคยมีงานทำ กลับต้องว่างงาน และจำเป็นต้องไปแสวงหางานใหม่ที่ตนเองอาจจะไม่ได้มีความถนัด ซึ่งทำให้ได้รับค่าจ้างต่ำลง ในขณะที่แรงงานใหม่หรือแรงงานที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่สามารถหางานทำได้หรือทำให้หางานยากขึ้น เนื่องจาก คงไม่มีผู้ประกอบการรายใด มีความสามารถที่จะจ่ายค่าจ้างสูงกว่าศักยภาพในการผลิตของแรงงาน

ดังนั้น การพิจารณาเฉพาะแรงงานที่ยังคงมีงานทำซึ่งได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่ขาดการพิจารณาถึงแรงงานที่ต้องตกงาน หรือแรงงานใหม่ที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ จึงเป็นการวิเคราะห์ผลได้ ผลเสียของค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ไม่ครอบคลุมทั้งระบบ

การที่ค่าจ้างแรงงานจะปรับตัวสูงขึ้น ไม่ได้เกิดจากการที่กฎหมายกำหนดว่าค่าจ้างต้องเป็นเท่านั้นเท่านี้ แต่ค่าจ้างแรงงานจะสูงหรือต่ำย่อมเกิดจากความสามารถในการทำงานหรือผลิตภาพแรงงานซึ่งคือหลักประกันความมั่นคงในการทำงานของแรงงานที่แท้จริง และผลิตภาพแรงงานเป็นปัจจัยที่กำหนดว่า แรงงานแต่ละคนควรจะได้รับค่าจ้างในอัตราเท่าใด ดังนั้น ค่าจ้างแรงงานจะปรับตัวสูงขึ้น ย่อมมาจากศักยภาพในการผลิตหรือผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถทำให้ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้นได้หลายวิธี เช่น การใช้แรงงานทำงานกับเครื่องจักร การปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ แรงงานมีการศึกษาสูงขึ้น มีการฝึกอบรมแรงงานทั้งก่อนหรือขณะปฏิบัติงาน เป็นต้น

ถ้าหากสามารถดำเนินการได้ดังที่กล่าวมาข้างต้น แรงงานมีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการได้มากขึ้น ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งผู้ประกอบการหรืออุตสาหกรรม รวมทั้งผู้บริโภคต่างได้รับประโยชน์ และย่อมส่งผลให้แรงงานได้รับค่าจ้างสูงขึ้น

ดังนั้น ค่าจ้างของแรงงานจะเป็นเท่าไหร่จึงมาจากผลิตภาพแรงงานหรือศักยภาพในการผลิตของแรงงาน ไม่ใช่มาจากการออกกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล แนวทางที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ การต้องนำเอาประเด็นเรื่องผลิตภาพแรงงานงานขึ้นมาเป็นหัวข้อสำคัญในการพิจารณาแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงาน โดยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน กระตุ้นให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมมีมาตรการในการเพิ่มศักยภาพในการทำงานของแรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาแรงงาน พัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแท้จริง ทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างสูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ

--------------

ศศิวิมล ตันติวุฒิ

(หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันแต่อย่างใด)