หยุด 'เงื่อนไข' ทำรัฐประหาร

หยุด 'เงื่อนไข' ทำรัฐประหาร

เชื่อว่าคนไทยที่นิยมชมชอบการรัฐประหาร มีน้อยถึงน้อยมากอยู่แล้ว

 แม้กระทั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ใช่ว่าคนไทยจะนิยมชมชอบการทำรัฐประหาร ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

เห็นด้วยกับ “อดีตนายกฯปู”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โพสต์ข้อความรำลึกเนื่องในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน หรือ “10 ปีรัฐประหาร” ผ่านเฟซบุ๊ค Yingluck Shinawatra ว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้น ทำไทยขาดโอกาสในการที่ประเทศจะยืนอยู่ในเวทีโลกอย่างสง่างาม รวมทั้งยังทำให้คนไทยถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น ขอให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่โดนรัฐประหาร

แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่เงื่อนไข การรัฐประหาร

ต้องยอมรับว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็มี “เงื่อนไข” อย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล จำลอง ศรีเมือง เนื่องจากเห็นว่า “ทักษิณ” บริหารประเทศ ส่อว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหลายเรื่อง ซึ่งถือเป็นทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบใหม่

และหลายเรื่องดังกล่าว ก็ถูก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบและส่งฟ้องศาลหลายคดี กระทั่งบางคดีถูกตัดสินจำคุกไปแล้วด้วย 

ประการที่สอง ความขัดแย้งระหว่าง “ทักษิณ” กับผู้กุมบังเหียนกองทัพ จนมีข่าวแพร่สะพัดอยู่เป็นระลอก

ส่วนการรัฐประหารครั้งล่าสุด ของ “คสช.” นำโดย “ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็แทบไม่ต้องพูดถึงว่ามี “เงื่อนไข” มากมายแค่ไหน

ประการสำคัญ คือ รัฐบาลถูกมองว่า มีความพยายามที่จะใช้กลไกรัฐสภา สร้างความชอบธรรมในการหลุดพ้นคดีให้กับ “ทักษิณ” หรือ การผลักดันกฎหมาย นิรโทษกรรมสุดซอย” และแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

จนนำมาสู่การประท้วงตามท้องถนนของ “ลุงกำนัน”สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และมวลมหาประชาชน ก่อนที่การต่อสู้ขับเคี่ยวกันเดินมาถึงทางตัน ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกยึดอำนาจโดย “คสช.” ในที่สุด

ถามว่า “เงื่อนไข” มาจากไหน... คำตอบเห็นชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่นักเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นตาม “การเมืองใหม่” กติกาใหม่ จะต้องถือเป็น “บทเรียน” และหยุดสร้างเงื่อนไขเสียที จะได้ไม่ต้องมานั่งโทษทหารแต่ฝ่ายเดียว

ยิ่งถ้าจะให้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เป็นรัฐบาลสุดท้ายที่ถูกรัฐประหาร นักเลือกตั้งก็ยิ่งต้องปรับตัวอย่างสูง เพื่อสร้างมิติใหม่ทางการเมือง มากกว่าที่จะยังหมกมุ่นอยู่แต่ในวังวนความขัดแย้งอย่างทุกวันนี้