สวนทางระหว่าง เวียตนามกับเวเนฯ

สวนทางระหว่าง เวียตนามกับเวเนฯ

ชื่อย่อ ว.น.เหมือนกัน แต่สถานการณ์กลับตรงข้ามโดยสิ้นเชิง สาเหตุสำคัญมาจากทิศทางการบริหารเศรษฐกิจที่สวนทางกัน

ว.น.เวียตนามกำลังโลดแล่นไปอย่างรื่นรมย์ถึงขนาดนิตยสาร The Economist คาดว่าจะเป็น เสือแห่งเอเซียตัวถัดไป ตั้งแต่ปี 1990 อัตราเติบโตต่อประชากรสูงเป็นที่ 2 ของโลก รองจากจีน 

หลังจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในสงครามเวียตนาม ประเทศก็รวมเป็นหนึ่งภายใต้ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบสั่งการจากส่วนกลาง (Central Command Economy) ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤติในครึ่งแรกของทศวรรษ 1980 ที่อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 700%

ในปี 1986 จึงเริ่มปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า Doi Moi  ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างเศรษฐกิจระบบตลาดแบบสังคมนิยม (socialist-oriented market economy) เศรษฐกิจเวียตนามจึงพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากประเทศที่จนที่สุดแห่งหนึ่งในโลกด้วยรายได้ต่อหัวเพียง US$100 ภายใน 25 ปีก็กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (ระดับล่าง)รายได้ต่อหัว US$2,100 ในปี 2015 (ข้อมูลธนาคารโลก) ความเป็นอยู่ของประชาชนก็พลิกฟื้น สัดส่วนของประชากรที่ยากจนค่นแค้น ลดจาก 50% ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เหลือเพียง 3% ในปัจจุบัน ไฟฟ้าเข้าถึงเกือบทุกบ้าน

เวียตนามมีนโยบายเปิดประเทศ เซ็น FTA หลายฉบับ (รวมทั้ง TPP ด้วย) ในขณะที่นักลงทุนถอนตัวจากจีนที่ค่าแรงเริ่มสูง ก็ย้ายมาเวียตนามซึ่งอยู่ใกล้ๆสามารถใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่การผลิตในจีนได้

นอกจากนี้เวียตนามพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงขนาดไม่บังคับเรื่อง local content การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2015 แม้ 2016 ก็ยังสูงขึ้น 105% ในครึ่งปีแรก

แต่ใน ว.น.เวเนซุเอลานักลงทุนถ้าไม่ถูกไล่ก็หน่ายหนี เพราะนโยบายไม่เป็นมิตรกับการลงทุน แถมประเทศอยู่ในวิกฤตชนิดที่ยังไม่เห็นวี่แววจะคลี่คลายได้

หลังจากหลุดจากความเป็นอาณานิคมเวเนฯ มีการปกครองโดยทหารบ้างเลือกตั้งบ้าง จนถึงสมัยที่ฮิวโก ชาเวสออีตนายทหารที่ทำการรัฐประหารไม่สำเร็จแต่มาลงเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี 1999 มีการใช้นโยบายประชานิยม ชาตินิยม และสังคมนิยมซึ่งเป็นระบบสั่งการจากส่วนกลาง มากขึ้นเรื่อยๆ

บทบาทรัฐขยายตัวทำให้การผลิตและเศรษฐกิจเริ่มด้อยประสิทธิภาพ ทั้งเพิ่มโอกาสการแทรกแซงทางการเมืองและคอร์รัปชั่นซึ่งก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ รัฐควบคุมราคาสินค้าโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทำให้สินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญขาดแคลน เช่น อาหาร ยา และกระดาษชำระ 

การ ทวงคืนที่เริ่มจากกิจการพลังงานในปี 1976 และถูกต่อยอดโดยชาเวซด้วยการไล่ต่างชาติออกจากกิจการรับจ้างผลิต ในขณะที่เวียตนามเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ผลคือเวเนฯ ผลิตน้ำมันได้น้อยลงกว่าในอดีตทั้งที่เป็นรายได้หลักของประเทศ 

เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ รัฐบาลถังแตก เศรษฐกิจยิ่งย่ำแย่ ประชาชนขาดแคลนต้องเข้าคิวยาวเหยียดซื้ออาหารและของใช้จำเป็นทีละหลายชั่วโมง อาชญากรรมสูงมาก อัตราเงินเฟ้อสูงลิ่วคาดกันว่า 700% ในปัจจุบัน หลังจากการประท้วงในท้องถนนที่ประชาชนพ่ายแพ้ ตายกว่า 40 คน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงไปเรื่อยๆ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีมาดูโรประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ มาตรการที่โดดเด่นมากในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร รัฐบาลสามารถบังคับให้ประชาชนไปทำงานในภาคเกษตรอย่างน้อย 60 วัน !! โดยให้นายจ้างปัจจุบันจ่ายเงินเดือน

ว.น.เวเนซุเอลาเป็นประชาธิปไตยเพราะมีการแข่งขันเลือกตั้งระดับหนึ่ง แต่ฝ่ายบริหารนำประเทศเข้าสู่สังคมนิยมแบบสุดโต่งจนเศรษฐกิจตกอยู่ในวิกฤติ ว.น.เวียตนามไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะไม่มีการเลือกตั้ง แต่ผู้นำเวียตนามได้พาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจระบบตลาดทำให้เกิดความเจริญและสงบสุขระดับหนึ่ง แม้เวียตนามจะยังต้องเปลี่ยนแปลงหลายๆ สิ่งเพื่อให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

ชาวเวเนฯ ต้องรอดูว่าทหารจะเดินเกมจากไร ภารกิจแก้ปัญหาความขาดแคลนนั้นถ้าหันเข้าสู่สังคมนิยมมากขึ้นๆ ก็จะเสมือนลิงติดแหทำให้ปัญหาหนักหน่วงเข้าไปอีก แต่ถ้ามีประชามติที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นชัยชนะของฝ่ายค้าน ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ง่ายแม้จะไปถูกทาง เพราะประชาชนเคยตัวกับประชานิยม คงต้องอาศัยความสนับสนุนจากทหารอีกเช่นกัน!

** ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ขององค์กรใด