โมเดล..รับมือบาทแข็ง!

โมเดล..รับมือบาทแข็ง!

หลายเดือนมานี้ดูเหมือน ธนาคารแห่งประเทศไทย

(ธปท.) ไม่ชอบใจนักกับ เงินบาท ที่แข็งค่าต่อเนื่อง แม้ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงต้นสัปดาห์นี้ จะเริ่มอ่อนค่าลงบ้าง จากปัจจัย “เฟด แฟกเตอร์” แต่ภาพรวมยังไงก็ยังแข็งอยู่เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

สาเหตุหนึ่งเพราะระยะหลัง เงินบาท ตกเป็น เป้าสายตา ของผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยมองว่า สถานะด้านต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศสูง

ที่สำคัญ ค่าความผันผวน ของค่าเงินบาทยังต่ำเพียง 4% เรียกว่าต่ำเกือบสุดในภูมิภาค เป็นรองเพียงเงินหยวนของจีน จึงเหมาะเป็น แหล่งพักเงิน ของ ผู้ลงทุน ในยามที่ตลาดเต็มไปด้วยความผันผวน

ไม่แปลกที่เวลานักลงทุน เปิดรับความเสี่ยง”(Risk on) ไทยจึงตกเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ผู้ลงทุนต่างชาติ “เลือก” เข้ามาลงทุน ..มีการแซวกันว่า ไทยเปรียบเหมือนเป็น “เซฟเฮฟเว่น” ในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่

บังเอิญว่า เมื่อเร็วๆ นี้ โธมัส จอร์แดน ประธานธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์(เอสเอ็นบี) เดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่ง สวิสเซอร์แลนด์ ถือเป็น เซฟเฮฟเว่นตัวจริง โดยเฉพาะเวลาที่ ผู้ลงทุนอยู่ในภาวะ ไม่กล้าเสี่ยง”(Risk off) ..สวิสเซอร์แลนด์ มักเป็น ตัวเลือกแรก ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า

การมาเยือนของ ประธานเอสเอ็นบีจึงหนีไม่พ้นที่ ธปท. จะเชิญมา เล่าประสบการณ์และ วิธีจัดการกับค่าเงิน!

“จอร์แดน” บอกว่า เอสเอ็นบียึด “2เสาหลัก” ในการจัดการ เสาแรก คือ ดอกเบี้ยนโยบาย เสาที่สอง คือ การปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่ใช้วิธีเข้าจัดการ ถ้าเห็นว่าค่าเงินผันผวนรุนแรง

จะเห็นว่าช่วงที่ ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการทำ คิวอี พร้อมหั่นดอกเบี้ยจน ติดลบ” ..เงินทุนต่างชาติไหลเข้า สวิสฯ ทันที ทำให้ เอสเอ็นบี ต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ยจนติดลบตาม และเป็นระดับที่ลบมากกว่าดอกเบี้ยนโยบายของอีซีบีด้วย ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีเข้าแทรกแซงในตลาดเงิน

ว่าไปแล้วเป็นวิธีที่ไม่ต่างจาก ธปท. นัก ..เพียงแต่ระยะหลัง ธปท. ให้น้ำหนักกับการเข้า แทรกแซง ในตลาดเงินมากกว่า กรณีนี้ฟ้องชัดผ่านตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ที่ล่าสุดอยู่ระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่อยู่ระดับ 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นราว 19%

ส่วนฝั่ง “ดอกเบี้ยนโยบาย” ดูเหมือน “กนง.” หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. ไม่อยากแตะในส่วนนี้มากนัก เพราะถ้าย้อนดูผลประชุมกนง.ช่วงที่ผ่านมา กนง. มีมติเป็น เอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% มาโดยตลอด หลังจากปรับลดครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2558

..พูดกันชัดๆ คือ กนง. คงดอกเบี้ยมา “14 เดือน” ติดต่อกันแล้ว แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังต่ำกว่าเป้าหมาย และเศรษฐกิจไทยดูอ่อนแรงลงในบางช่วงก็ตาม

ช่วงนี้จึงดูเหมือนว่า เครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนจะรับบทหนักหน่อย!