เก็บเงินล้านเพื่อเกษียณ

เก็บเงินล้านเพื่อเกษียณ

เก็บเงินล้านเพื่อเกษียณ

วันก่อนผมอ่านพบบทความชิ้นหนึ่งที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับระดับการออมหลังเกษียนของผู้ที่ทำงานรับเงินเดือน ซึ่งระบุว่าผู้ที่ทำงานรับเงินเดือนส่วนใหญ่ 76% จะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียน โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบาท อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนและการสมทบในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระดับต่ำ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผมอยากแนะนำวิธีที่ช่วยให้ผู้ที่ทำงานรับเงินเดือน สามารถเตรียมตัวใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ดีขึ้น อันดับแรกครับ

ออมก่อนใช้ สำหรับมนุษย์เงินเดือน สิ่งที่เราเจออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกเดือน โดยปัจจุบันกฎหมายเปิดให้ลูกจ้างสามารถหักเงินเพื่อเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้สูงสุด 15% ซึ่งแนะนำว่า เราควรหักสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด จะเป็นวิธีที่ช่วยให้เราบังคับการเก็บออมได้ดีขึ้น เงินที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ก็ควรพิจารณาเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง บางท่านหากมีเงินลงทุนในส่วนอื่นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้นอยู่แล้ว เงินส่วนนี้อาจจะเลือกนโยบายความเสี่ยงต่ำก็ได้ครับ นอกจากนี้ หากสามารถออมได้เพิ่มขึ้น แนะนำให้หักบัญชีเงินเดือนเข้าเป็นบัญชีเงินออมเป็นประจำทุกเดือน อาจเป็นจำนวนน้อยๆ สำคัญคือต้องมีวินัย เก็บเป็นประจำทุกเดือนยกตัวอย่างหากหักเงินจำนวน 1,000 บาททุกเดือน สามารถบริหารผลตอบแทนได้ประมาณ 6% ต่อปีในเวลา 35 ปี เราจะมีเงินประมาณ 1.38 ล้านบาท

ใช้เงินเป็น ในที่นี้คือต้องรู้จักการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของตนเองแล้วเปลี่ยนรายจ่ายเป็นเงินออม วิธีที่ง่ายและได้ผล คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันบางอย่างที่เราสามารถลดลง และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินออมได้ เช่น เคยดื่มกาแฟ 2 แก้วต่อวัน ลดลง 1 แก้ว ประหยัดเดือนละประมาณ 500 บาท จะได้เงินส่วนนี้ไปหักเข้าบัญชีเพื่อออมเพิ่มได้ครับ นอกจากนี้ ในส่วนของรายจ่ายที่เป็นการผ่อนชำระบางส่วนที่ไม่ใช่สินทรัพย์จำเป็น อาจจะทยอยลดลง

รู้จักหาดอกผล ระยะเวลาที่ผ่านไปมีผลต่อมูลค่าของเงินออมของเรา คือราคาสินค้าแพงขึ้นเรื่อยๆ เงิน 100 บาทที่เราเคยซื้อของชิ้นเดิมได้ วันนี้ต้องใช้เงิน 120 บาทที่จะซื้อ สะท้อนว่า เงินออมที่มีต้องสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าราคาของที่แพงขึ้นในอนาคต การหาดอกผลจากการอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารอย่างเดียวจะไม่ทันตามราคาของที่แพงขึ้นในอนาคต ลองคำนวนคร่าวๆ ว่า หากต้องใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท และมีจำนวนปีที่ต้องใช้ชีวิตหลังเกษียนอีก 20 ปี เงินก้อนที่ต้องมีหลังปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ผมตั้งสมมติฐานว่าปีละ 4% จะต้องมีอย่างน้อย 7.1 ล้านบาท ดังนั้น การหาดอกผลเพิ่มเติมต้องคำนึงถึงการชนะเงินเฟ้อด้วยครับ

แบ่งเงินลงทุนให้เป็นยึดหลักง่าย ๆ 3 ข้อ 1.กระจายความเสี่ยงอย่างสมดุล ไม่กระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งทั้งหมด2. มีสัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของตนเอง 3. หากรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นได้ไม่มาก ก็ควรลงทุนในหุ้นสัดส่วนน้อยๆ และเลือกเฉพาะหุ้นที่ประเภท Defensiveหากรับความเสี่ยงไม่ได้เลยก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นครับ 3. สินทรัพย์ที่ลงทุนสามารถขายออกเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนตามสถานการณ์ได้

รู้จักรับรู้กำไรและลงทุนต่อ เมื่อเก็บออมและลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ ว่าเงินลงทุนนั้นงอกเงยเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว สินทรัพย์ที่ลงทุนมีแนวโน้มจะปรับตัวในทิศทางอย่างไร ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้ การติดตามและทยอยรับรู้กำไร และปรับสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม จะช่วยให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ครับ


•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน