เราใช้ไฟบ้านกันอย่างไร

เราใช้ไฟบ้านกันอย่างไร

ในโลกปัจจุบันเราคงขาดไฟฟ้าไม่ได้ ลองนึกดูว่าถ้าบ้านของคุณไฟฟ้าดับไปสักหนึ่งชั่วโมง คุณจะอยู่อย่างปกติสุขได้

อย่างไร ดูทีวีก็ไม่ได้ ร้อนก็ร้อนเพราะจะเปิดแอร์เปิดพัดลมก็ไม่ได้ ของในตู้เย็นก็อาจจะเริ่มมีกลิ่นไม่ดี ถ้าเป็นตอนกลางคืนก็ต้องหาเทียนมาจุดให้แสงสว่าง ทำอะไรเอาไม่ได้จริงๆ ถ้าบ้านไม่มีไฟฟ้า

เราใช้ไฟฟ้าในบ้านกันมากไหมในภาพรวมของไทย การใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์หรือ 1 ใน 5 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศคือโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งใช้มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ทั้งหมด มากกว่าการใช้ไฟบ้านถึงเกือบเท่าตัว

การใช้ไฟฟ้าในบ้านของไทยยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 27% ประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส มีการใช้ไฟฟ้าในบ้านอาศัยเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด อาจเป็นเพราะบ้านเรือนในประเทศเหล่านี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก และอุตสาหกรรมของเขาอาจจะไม่ใช้ไฟฟ้ามากเหมือนของเราก็ได้

อยากรู้ไหมว่าคนไทยวันหนึ่งๆ อยู่ที่บ้านใช้เครื่องไฟฟ้าอะไรบ้างและมากน้อยแค่ไหน? กลุ่มอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำรวจครัวเรือนทั่วประเทศไทยจำนวนกว่า 2,000 ครัวเรือนในปี 2556 ครอบคลุมทั้งบ้านเดี่ยว ห้องแถว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม เลือกทั้งครัวเรือนที่มีรายได้สูง ปานกลาง และต่ำ

ผลการสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟบ้านมากที่สุดคือ เครื่องปรับอากาศหรือแอร์นั่นเอง ครัวเรือนโดยเฉลี่ยในเขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน. ครอบคลุมกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ) ใช้ไฟฟ้าเปิดแอร์มากถึง 34-59 เปอร์เซ็นต์ของบิลค่าไฟฟ้าในบ้าน คนรวยใช้ในสัดส่วนที่สูงกว่าคนจน สำหรับครัวเรือนในเขตต่างจังหวัด (เขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.) ถ้าเป็นผู้ใช้รายใหญ่ก็ใช้ไฟฟ้าเปิดแอร์มากที่สุดเช่นเดียวกับคนในเขตกรุงเทพฯ แต่ตัวเลขสัดส่วนจะต่ำกว่า ส่วนผู้ใช้รายย่อย (ใช้เดือนละต่ำกว่า 150 หน่วย) ในเขต กฟภ. จ่ายค่าไฟฟ้าใช้แอร์เพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะบ้านส่วนใหญ่ไม่ติดแอร์

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟบ้านมากที่สุดรองลงไปจากแอร์ ก็คือตู้เย็น ครัวเรือนโดยเฉลี่ยทั่วประเทศใช้ไฟฟ้าไปกับตู้เย็นประมาณ 7-22 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในบ้าน

เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ใช้ไฟค่อนข้างมาก ได้แก่ พัดลม (6-20 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ไฟทั้งหมดในบ้าน) โทรทัศน์ (5-15 เปอร์เซ็นต์) หลอดไฟ (5-15 เปอร์เซ็นต์) หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (2-8 เปอร์เซ็นต์) และเครื่องทำน้ำอุ่น (2-6 เปอร์เซ็นต์)

บ้านที่มีรายได้ต่างกันและอยู่ในเขตต่างกัน (เช่นในเมืองกับในชนบท) มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและลักษณะ/สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ไม่เหมือนกัน เครื่องปรับอากาศเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างนี้ ครัวเรือนรายได้น้อย (ที่ใช้ไฟน้อยกว่า 150 หน่วยต่อเดือน) ส่วนใหญ่ไม่มีแอร์ใช้ในบ้าน ทั้งในเขต กฟน. (69 เปอร์เซ็นต์ไม่มีแอร์) และในเขต กฟภ. (95 เปอร์เซ็นต์ไม่มีแอร์) แต่สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟมากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน ปรากฏว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนในเขต กฟน. มีแอร์ใช้บ้านละอย่างน้อย 1 เครื่อง และไม่ถึงครึ่ง (คือ 42 เปอร์เซ็นต์) ของครัวเรือนในเขต กฟภ. มีแอร์ใช้บ้านละอย่างน้อย 1 เครื่อง สำหรับบ้านที่มีแอร์จะใช้แอร์เฉลี่ยวันละประมาณ 4 ชั่วโมง และ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นแอร์แบบประหยัดไฟ เบอร์ 5

เราคงนึกว่าเกือบทุกครัวเรือนในไทยมีตู้เย็นใช้แล้ว แต่การสำรวจพบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนในการสำรวจมีตู้เย็นใช้ในบ้าน และส่วนใหญ่เป็นตู้เย็นขนาดเล็ก ต่ำกว่า 8 คิว โดย 77 เปอร์เซ็นต์เป็นตู้เย็นประหยัดไฟ เบอร์ 5

โทรทัศน์ดูเหมือนจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทุกบ้านขาดไม่ได้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้โทรทัศน์ขนาด 21-36 นิ้ว คิดเป็น 69 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ครัวเรือนโดยเฉลี่ยดูโทรทัศน์ประมาณวันละ 4 ชั่วโมง โดยกว่าครึ่งหนึ่งดูโทรทัศน์ในช่วงหกโมงเย็นถึงเที่ยงคืน

ประเด็นอื่น ๆ จากผลการสำรวจมีดังนี้

คนไทยส่วนใหญ่ (กว่า 90เปอร์เซ็นต์) ไม่ใช้เตาไฟฟ้า อาจเป็นเพราะใช้เตาแก๊สได้สะดวกกว่าและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า

กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนไทยไม่ใช้เตาอบไมโครเวฟ ครัวเรือนที่ใช้เตาอบไมโครเวฟส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงและอยู่ในเขตการไฟฟ้านครหลวง

• 2 ใน 3 ของครัวเรือนไทยมีกระติกต้มน้ำไฟฟ้า

• ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

• 76 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนไทยใช้เตารีดไฟฟ้า โดยเฉลี่ยจะใช้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง

• เกือบทุกบ้านมีพัดลมและโดยมากเป็นพัดลมตั้งพื้น ส่วนใหญ่ใช้วันละ 3-6 ชั่วโมงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนไทยไม่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่น บ้านที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงและอยู่ในเขตการไฟฟ้านครหลวง

• 40 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนไทยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน โดยครัวเรือนที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ไฟมากกว่า 150 หน่วยต่อเดือนในเขตการไฟฟ้านครหลวง เกือบทุกบ้านใช้หลอดไฟนีออนยาว เฉลี่ยบ้านละ 5 หลอด และกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนเริ่มใช้หลอดตะเกียบแล้ว

อ่านบทความนี้แล้ว นอกจากจะเก็บเอาไปเป็นข้อมูลที่น่ารู้แล้ว ก็ขอให้เป็นเครื่องเตือนใจให้ช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วยนะครับ

----------------------

พรายพล คุ้มทรัพย์