ผักตบชวา ปัญหาของชาติ

ผักตบชวา ปัญหาของชาติ

เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาในทันที หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในทำนองว่า ทำไมคนเป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงกับต้องลงมาสั่งการแก้ไขปัญหา (เล็กๆ) เรื่องผักตบชวา ทั้งๆ ที่ผักตบเป็นปัญหาของประเทศมานานหลายทศวรรษ และกลายเป็นปัญหาของหลายๆ ประเทศทั่วโลกด้วย

ในด้านหนึ่ง ผักตบมีเสน่ห์เป็นที่หลงใหลของผู้คนก็เพราะมีดอกที่สวยงามแถมรากใต้น้ำก็ใช้เป็นอาหารปลาได้ จึงเป็นที่นิยมเพาะเลี้ยงในสระเล็กๆประจำบ้านและทะเลสาบทั้งในยุโรปและอเมริกา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผักตบมีฐานะไม่ต่างจากดอกกัญชา สวยงามแค่ไหนแต่กลับเป็นพิษร้ายต่อธรรมชาติและมนุษยชาติอย่างมหาศาลเป็นที่ประจักษ์ของนานาประเทศ

ในแอฟริกาหลายๆ ประเทศ ผักตบที่ปกคลุมทั้งแม่น้ำลำคลองจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก ถึงขั้นทำให้คนยากคนจนต้องขาดรายได้หมดทางทำมาหากิน

ที่ยุโรปเองเพิ่งมีการออกกฎหมายล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีผลตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป คือการออกกฎหมายห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายผักตบในสหภาพยุโรปทั้งหมด ถึงแม้ว่า ผักตบจะถูกทำลายโดยธรรมชาติในช่วงฤดูหนาว แต่เมื่อถึงช่วงฤดูร้อนกลับแพร่พันธุ์ขยายตัวลงสู่แม่น้ำเช่นเดิมจนเกิดปัญหา กลายเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมหน้าร้อนซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่คนยุโรปมีความสุขมากที่สุด หลังจากต้องทนหนาวมาหลายเดือน

ผักตบจึงกลายเป็น “อสรผัก” ที่ใครๆ ก็พากันรังเกียจ แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดให้สิ้นซากได้เสียที หากนักวิจัยไทยคนไหนกลุ่มใดสามารถค้นพบวิธีกำจัดพืชน้ำที่มีแหล่งกำเนิดมาจากลุ่มน้ำอเมซอนนี้จนเป็นที่ยอมรับนำไปใช้ทั่วโลกได้ ก็จะสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไม่น้อยเลย เหมือนที่นักวิจัยไทยเคยสร้างชื่อเสียงในการรักษาโรคเอดส์มาแล้ว ซึ่งรัฐบาลน่าจะทุ่มงบประมาณจำนวนหนึ่งมอบหมายให้นักวิชาการไทยได้แสดงฝีมือ เพราะทั่วโลกดูเหมือนจะยอมแพ้และยอมรับว่า การกำจัดผักตบเป็น mission impossible

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็น “ผักนรก” ที่หาวันหมดไปจากโลกใบนี้ได้ยาก แต่ผักตบก็มีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับสภาพของประเทศไทย นั่นคือ ใช้เป็นเครื่องกรองในการดูดขจัดสารพิษตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ และเป็นตัวป้องกันน้ำละเหยโดยเปล่าประโยชน์จำนวนมหาศาลในแต่ปี โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนๆ ต่างๆ เหมือนกรณีของอิสราเอลและสหรัฐฯที่ใช้ลูกบอลพลาสติกสีดำคลุมผิวน้ำ ซึ่งจะทำให้มีน้ำต้นทุนเหลือใช้ในช่วงฤดูแล้วมากขึ้นมหาศาล

ทั้งนี้ บัวยักษ์ที่มีแหล่งกำเนิดเดียวกับผักตบและมีขนาดใบใหญ่โตเกินหนึ่งเมตร อาจจะเป็นทาง เลือกหรือคำตอบหนึ่งในการใช้เป็นศัตรูทางธรรมชาติและป้องกันการขยายแพร่พันธุ์ของผักตบตามหนองน้ำลำคลองต่างๆ รวมทั้งใช้ป้องกันการละเหยของแหล่งน้ำทั่วประเทศ เพิ่มเสน่ห์ให้กับแหล่งน้ำต่างๆ ไปในตัวด้วย ซึ่งต้องอาศัยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วผักตบจะเป็นพืชที่อยู่ในข่าย edible หรือกินได้ มีคุณค่าทางอาหารอย่างน่าทึ่ง ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 36% โปรตีน 18% และใยอาหาร 17% ในส่วนของใบก็มีทั้งวิตามินเอ บี1 และบี2 แต่มนุษย์เรากลับไม่นิยมหรือไม่มีวัฒนธรรมในการกินพืชชนิดนี้เลยไม่ว่าจะในประเทศไหนก็ตาม (จะมีบ้างก็ในเกาะชวา)

ในประเทศไทย ถึงแม้บรรพบุรุษของเราจึงตั้งชื่อเรียกว่าผักตั้งแต่แรก แต่ดูเหมือนว่า วัฒนธรรมอาหารการกินของไทยนั้นไม่เคยมีโอกาสต้อนรับผักตบเข้าสู่สำหรับประจำครัวเลย จึงเป็นเรื่องยากที่จะรณรงค์ให้คนไทยหันมากินผักตบแบบช่วยชาติเพราะเรามีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่ามากๆ

เว้นแต่ว่า มีนักวิจัย (ไทย) สักคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ประกาศเสียงดังๆ ว่า ผักตบคือสุดยอดยาชูกำลัง หรือยาสาวพันปี เมื่อนั้น เราก็อาจจะเห็นผู้คนทั่วทั้งโลกหันมากินผักตบกันยกใหญ่ก็เป็นได้