การซื้อขายทองคำในตลาดโลกและตลาดไทย

การซื้อขายทองคำในตลาดโลกและตลาดไทย

การซื้อขายทองคำในตลาดโลกและตลาดไทย

ทองคำเป็นโลหะมีค่าที่ผู้ลงทุนทั่วไปให้ความสนใจมาตั้งแต่ในอดีต เนื่องจากทองคำมีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ และกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ซึ่งนอกเหนือจากภาคการลงทุนแล้ว ทองคำยังนับเป็นสินค้าที่มีความสำคัญกับทั้งภาคเศรษฐกิจจริงในฐานะวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม (Technology, Electronic, Dentistry) ภาคการเงินระดับมหภาคในฐานะทุนสำรองของแต่ละประเทศ (Central Bank Reserve) รวมไปถึงบทบาทในฐานะเครื่องประดับ (Jewelry) และสินทรัพย์ที่ช่วยสะสมความมั่งคั่งสำหรับประชาชนทั่วไปอีกด้วย

อุปสงค์ทองคำโลก ตามข้อมูลจาก World Gold Council หรือ องค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมทองคำโลก สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ Jewelry, Investment, Technology, และ Central Bank โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2011-2015) ความต้องการทองคำทั่วโลกอยู่ที่เฉลี่ย 4,471 ตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความต้องการจากกลุ่ม Jewelry ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53% ในขณะที่ความต้องการทองคำเพื่อ Investment มีสัดส่วนประมาณ 26% กลุ่ม Central Bank 13% และกลุ่ม Technology อีก 8% สำหรับด้านอุปทานทองคำ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ Supply ที่มาจากการทำเหมืองในสัดส่วนประมาณ 69% และจากการนำทองคำเก่ามา Recycle ประมาณ 31%

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 นั้น ความต้องการทองคำในตลาดโลกมีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำโลกจนมาอยู่เหนือระดับ 1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ประกอบกับสภาวะตลาดเงินที่ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกใช้การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเริ่มมีอัตราดอกเบี้ยติดลบในหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้ลงทุนหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนทองคำมากขึ้น โดยความต้องการทองคำทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 อยู่ที่ 2,335 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความต้องการจากกลุ่ม Investment ถึง 46% สูงกว่าความต้องการของกลุ่ม Jewelry ที่คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงกว่าในอดีตเหลือเพียงประมาณ 40% โดยเมื่อพิจารณา Demand ทองคำในส่วนของ Consumer Demand (Jewelry และ Investment) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 จะพบว่ามีความต้องการรวมอยู่ที่ 1,410 ตัน โดยทวีปเอเชียเป็นกลุ่มประเทศที่มี Demand สูงที่สุดในโลกประมาณ 1,065 ตันหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 76% และเมื่อพิจารณาเฉพาะ Consumer Demand ในประเทศจีนและอินเดียจะพบว่ามีสัดส่วนรวมสูงถึง 51% ของ Consumer Demand ทั่วโลกเลยทีเดียว

ในปัจจุบัน การซื้อขายทองคำสามารถทำได้ผ่านหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแบบ OTC (Over The Counter) ที่เป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การซื้อขายผ่านเครื่องมือลงทุนในศูนย์ซื้อขาย ( Exchange) ในรูปของ Exchange Traded Fund (ETF) หรือการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับทองคำ เช่น Gold Futures เป็นต้น ทั้งนี้ ตลาด OTC ที่ซื้อขายทองคำและโลหะมีค่า ที่ใหญ่ที่สุดและถือเป็นศูนย์กลางการซื้อขายทองคำโลกคือตลาด London Bullion Market ในประเทศอังกฤษ โดยทองคำที่ซื้อขายในตลาด London Bullion Market จะเป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 99.5%, 99.9% และ 99.99% และราคาที่ประกาศโดย LBMA หรือ London Bullion Market Association เป็นราคาที่ถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงสำหรับการซื้อขายทั่วโลก

ในด้านการซื้อขายทองคำผ่านศูนย์ซื้อขายนั้น ETF นับเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก โดย ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ SPDR Gold Share ที่ซื้อขายกันในตลาดสหรัฐอเมริกา โดยณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2016 กองทุน ETF ดังกล่าวถือครองทองคำถึง 950 ตัน ในขณะที่การซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับทองคำ นั้น ตลาด CME (Chicago Mercantile Exchange) - COMEX ในสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีความสำคัญที่สุด โดยมีการซื้อขายทั้งในรูปแบบ Gold Futures และ Gold Options และมีปริมาณการซื้อขายรวมประมาณ 128,844 ตันในปี 2015 อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคเอเชียนั้น ตลาดที่มีการเติบโตและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ ตลาด SGE (Shanghai Gold Exchange) ที่มีการซื้อขายทองคำ Spot และตลาด SHFE (Shanghai Futures Exchange) ที่ซื้อขาย Gold Futures โดยในปี 2015 มีปริมาณทองคำที่ซื้อขายผ่านตลาดทั้งสองรวมกันทั้งสิ้น 42,454 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29% จากปี 2014

สำหรับทางเลือกในการลงทุนทองคำของไทย ผู้ลงทุนสามารถเลือกเครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง ผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อทองคำแท่งโดยตรงจากร้านทอง การลงทุนใน Gold ETF ผ่านตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสัญญา Gold Futures ที่ซื้อขายกันในตลาด TFEX ปัจจุบัน สัญญา Gold Futures ที่ซื้อขายใน TFEX อ้างอิงอยู่กับทองคำความบริสุทธิ์ 96.5% และมีหน่วยน้ำหนักเป็นบาททองคำ (1 บาททองคำหนักประมาณ 15.2 กรัม) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยมีการซื้อขายสองขนาด ได้แก่ 50 บาททองคำ และ 10 บาททองคำ ทั้งนี้ ในครึ่งแรกของปี 2016 มีปริมาณการซื้อขาย Gold Futures เฉลี่ยใน TFEX เทียบเท่ากับทองคำหนัก 2.36 ตันต่อวัน เติบโตขึ้นปี 2015 ที่อยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 1.25 ตันต่อวัน ปัจจุบันสัญญา Gold Futures ใน TFEX เป็นสัญญาที่ชำระราคาด้วยเงินสด แต่ในเร็วๆ นี้ TFEX จะนำเสนอสินค้าทองคำประเภทใหม่ TFEX Gold-D ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายและขอรับมอบส่งมอบทองคำแท่งที่ได้มาตรฐาน LBMA ได้ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ผู้ลงทุนทั้งในเรื่องการซื้อขายและการต้องการซื้อทองคำเพื่อเก็บสะสมได้พร้อมกัน โดยจะนำข้อมูลของ TFEX Gold-D มาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป