นายกรัฐมนตรีคนต่อไป: มายากแต่ไปง่าย

นายกรัฐมนตรีคนต่อไป: มายากแต่ไปง่าย

หลังประชามติได้เกิดกระแสเรียกร้องชัดเจนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หากมีการเลือกตั้ง

ทั่วไปเกิดขึ้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ก็มิได้รับหรือปฏิเสธอย่างชัดเจน กระแสดังกล่าวเกิดจากความศรัทธาและความพอใจต่อความสามารถในการักษาบ้านเมืองให้สงบ และความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นของพลเอกประยุทธ์ รวมทั้งความเชื่อในความซื่อสัตย์สุจริตของตัวพลเอกประยุทธ์ นอกจากนี้กระแสดังกล่าวยังมาจากความเบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง และการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองบางพวก

กระแสนิยมพลเอกประยุทธ์เป็นกระแสที่นิยม “คนดีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง” เพราะหากคนดีจะเข้ามาทำงานการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งในแบบของไทย คนดีเหล่านั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้เงินทองและเล่ห์กลต่างๆ ในการได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งจะต้องแปดเปื้อนกับการถูกสาดโคลนป้ายสีในการหาเสียงของฝ่ายตรงข้าม หรือกระทั่งจากคนในพรรคเดียวกันเอง

การที่พลเอกประยุทธ์เข้ามานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีขณะนี้ได้ด้วย “การยึดอำนาจ” จะด้วยเหตุผลความจำเป็นอะไรก็ตาม เรียกได้ว่าเป็น “วิธีพิเศษหรือ อปรกติ และวิธีการอปรกตินี้เองที่ทำให้พลเอกประยุทธ์สามารถได้พื้นที่ที่จะแสดงฝีมือให้สาธารณชนได้ประจักษ์ในความสามารถ โชคดีที่ท่านทำให้บ้านเมืองสงบได้จริงๆ ทำให้ความเป็นคนดีมีความสามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจึงโดดเด่นชัดเจนกลายเป็นทางเลือกของคนไทยจำนวนไม่น้อย เพราะถ้าโชคไม่ดีก็ไม่รู้ว่าจะเอาท่านออกจากตำแหน่งได้อย่างไร เพราะท่านเข้ามาโดยการยึดอำนาจ จะให้ท่านออกก็คงต้องใช้วิธีเดียวกันกระมัง?

กระแสให้คนดีมีความสามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจึงผงาดขึ้นกลบลบการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีการ “ปรกติ” ของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง แต่การที่พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็จะต้องผ่านการเสนอชื่อจาก ส.ส.ที่เข้าสู่อำนาจทางการเมืองด้วยวิธีการปรกติ และนอกจากจะต้องผ่านการเสนอชื่อโดย ส.ส.แล้ว จะต้องได้รับความไว้วางใจจากทั้งรัฐสภา นั่นคือเสียงข้างมากของ ส.ส. หรือ ส.ว.เป็นจำนวนอย่างน้อย 376 คนขึ้นไป เพราะทั้งรัฐสภามีสมาชิกทั้งหมด 750 คน นั่นคือ ส.ส. 500 และ ส.ว. 250 ซึ่ง ส.ว. ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งก็มีพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะ

ในยามปรกติ การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นนั้น ย่อมถือว่ามีส่วนของภาวะผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหัวหน้า คสช.แต่งตั้ง ส.ว. และ ส.ว.ยกมือเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้องและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมก็คงจะรับไม่ได้ แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ อาจจะเป็นเพราะขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ “ไม่ปรกติ” หรือไม่ก็ผู้คนส่วนใหญ่เหล่านั้น “ไม่ปรกติ”

ภาวะไม่ปรกตินี้ไม่สามารถดำรงอยู่ไปได้นาน เพราะการได้คนดีมีความสามารถผ่านการยึดอำนาจและใช้อำนาจนั้นกำหนดกติกาเพื่อเปิดทางให้ตนอยู่ในอำนาจต่อไปได้นั้น ไม่ได้เป็นหลักประกันเสมอไปว่า จะได้คนดี และไม่ได้เป็นหลักประกันว่าหากไม่ดีแล้ว จะเปลี่ยนตัวด้วยวิธีการอย่างไร นอกเหนือไปจากการยึดอำนาจ

การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด จะเป็นลักษณะกึ่งๆ ยึดโยงกับเสียงประชาชน เพราะในเบื้องต้นให้อำนาจของ ส.ส.เสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 ที่กำหนดให้ ส.ส.จะต้องเสนอชื่อตามรายชื่อที่ประกาศไว้ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น หากประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้น ก็เท่ากับยอมรับรายชื่อที่พรรคเสนอไว้ในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าบุคคลที่ถูกเสนอชื่อไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 376 เสียง ก็สามารถปลดล็อกเปิดทางให้เสนอชื่อคนนอกรายชื่อได้ และการปลดล็อกก็เป็นอำนาจของ ส.ส.เท่านั้น ที่จะต้องรวมตัวกันได้จำนวน 250 คน เพื่อขอให้รัฐสภาลงมติปลดล็อก ซึ่งจะต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา นั่นคือ 500 คน ถึงจะปลดล็อกได้

และหลังจากนั้น ก็กลับมาที่การเสนอชื่อโดย ส.ส.อีก ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นเรื่องดีที่ยังกำหนดให้เฉพาะ ส.ส. เสนอชื่อ เพราะนั่นเท่ากับยังยึดโยงกับเสียงประชาชนอยู่ เพราะหากให้ ส.ว.เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ตามที่เกิดเป็นกระแสขึ้นมาหลังประชามติ ก็จะเป็นอะไรที่ไม่สัมพันธ์กับเสียงประชาชนเลย

มีข้อสังเกตคือ ประการแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาไว้ว่าจะต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ภายในกี่วันกี่เดือน ดังนั้น การเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาลอาจจะยาวนาน และไม่รู้ว่าถึงเมื่อไรถึงจะเรียกได้ว่า จัดตั้งไม่ได้ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องปลดล็อก ประการที่สอง สมมุติว่า หากตกลงกันไม่ได้จริงๆ ไม่ว่าจะปลดล็อกแล้วก็ตาม จะทำอย่างไร? ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เหมือนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญเหล่านั้น มักจะกำหนดเงื่อนเวลาไว้ชัดเจน ดังนั้น หากมีปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้น ก็คงต้องใช้มาตรา 5 ที่ว่าด้วยประเพณีการปกครอง

ประการสุดท้าย การจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเกิดขึ้นยาก เพราะคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้เสียง 376 เป็นอย่างต่ำ แต่การลงมติไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิ์เฉพาะของ ส.ส.เท่านั้น เมื่อ ส.ส.มี 500 คน เสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่ง นั่นคือ 251 ก็จะทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไป นั่นคือ จะได้เป็นใช้เสียงถึง 376 แต่เสียงแค่ 251 ทำให้ มายาก แต่ไปง่าย”!