เจาะกลุ่มสูงวัย โอกาสใหม่ธุรกิจ

เจาะกลุ่มสูงวัย โอกาสใหม่ธุรกิจ

ข้อมูลจากสำนักงาน

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุปี 2559 ประเทศไทยมีสัดส่วนกลุ่มสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป 11% ปี2561 ขยับเป็น 12% เมื่อรวมกับกลุ่มอายุ 60-64 ปี ที่มีสัดส่วน 6% รวมเป็น 18% จะทำให้กลุ่มสูงวัย มากกว่ากลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี ที่มีสัดส่วน 17% เป็นครั้งแรก

เรียกว่าประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ตามหลังญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่มีประชากรสูงวัยมากเป็นอันดันแรกในภูมิภาคนี้

คาดการณ์ในปี 2568 เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั่วประเทศจะเป็นผู้สูงอายุ ขณะที่กลุ่มวัยทำงานมีอัตราส่วนลดลงจาก 64% ในปี 2568 เหลือ 61% การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรมีสาเหตุมาจากประชากรไทยมีบุตรน้อยลงและมีอายุยืนยาวขึ้น

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงวัยตอนต้น อายุ 60-69 ปี บอกว่าพึ่งพาตนเองได้ 95% ,กลุ่มอายุ 70-79 ปี สัดส่วนลดลงเหลือ 88% และอายุ 80ปี ขึ้นไป เหลือ 69%

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ สินค้าและบริการ ต่างๆ ต้องปรับตัว รองรับกลุ่มกำลังซื้อใหม่สูงวัย ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีและถือเป็น “ดีมานด์และพื้นที่การตลาดใหม่ที่สามารถสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ” หากนำเสนอสินค้าและบริการตอบโจทยท์ความต้องการของคนกลุ่มนี้ “ตรงจุด”

รายงาน The New Age of Thais ของ “นีลเส็น ประเทศไทย” ซึ่งเป็นข้อมูลภาพรวมโครงสร้างประชากรไทย การใช้จ่ายของผู้สูงอายุและกลยุทธ์ในการเข้าถึงประชากรสูงอายุในไทย พบว่าอายุของผู้ซื้อของเข้าบ้านเพิ่มขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มสูงวัยมากขึ้น ที่รับหน้าที่หลักซื้อสินค้า Grocery เข้าบ้าน ในปี2553 กลุ่มสูงวัยที่ซื้อของเข้าบ้าน สัดส่วนอยู่ที่ 52% ปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 61%

      กลุ่มสินค้าที่กลุ่มสูงวัย นิยมซื้อเพิ่มขึ้นมากสุด คือ นม อาหารสุขภาพและอาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวไว้เป็นเพื่อน  รูปแบบการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ หากต้องการตอบโจทย์กลุ่มนี้ ปริมาณสินค้าต้องเหมาะสม คือมีขนาดลดลงต่อหน่วยบริโภค ฉลากสินค้าต้องใหญ่ สีสันโดดเด่นเห็นชัด บรรจุภัณฑ์เปิดง่าย เพราะวัยนี้เริ่มมีปัญหาด้านสายตาและพละกำลังเริ่มถดถอย

   แต่ด้วยยังเป็นกลุ่มที่มีภาระในการซื้อสินค้าเข้าบ้าน ฟากผู้ประกอบการค้าปลีก จึงต้องปรับตัวตอบสนองกลุ่มสูงวัยด้วยเช่นกัน โดยต้องการได้รับบริการจากค้าปลีก เช่น บริการนำสินค้าไปส่งที่รถ 35% , รถเข็นสินค้าไฟฟ้า 34% ,เคาน์เตอร์จ่ายเงินพิเศษ 25%

นอกจากนี้กลุ่มสูงวัยยังมีพฤติกรรมเข้าถึง และใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลแรก ในการค้นหาข้อมูลเพื่อซื้อสินค้ามากขึ้น ปี 2553 อยู่ที่ 5% แต่ปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 9% ดังนั้นช่องทางอีคอมเมิร์ซ ​จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น

     จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย ที่จะเข้ามามีอิทธิพลและมีผลกระทบ ทั้งผู้ผลิตสินค้า ร้านค้าปลีก รวมทั้งช่องทางการสื่อสาร ดังนั้นนักการตลาดและแบรนด์ ที่ต้องการช่วงชิงพื้นที่และตลาดใหม่  ​​

ต้องปรับตัวทั้งด้านการผลิตและการสื่อสาร เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นหากธุรกิจต่างๆ ต้องการเติบโตในอนาคต

การเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เท่ากับได้มีโอกาสเรียนรู้ ถูกผิด และยึดพื้นที่รองรับกลุ่มสูงวัยได้ก่อน!