ยุทธศาสตร์ 3 สินค้าเกษตรไทยสู่อาเซียน-โลก

ยุทธศาสตร์ 3 สินค้าเกษตรไทยสู่อาเซียน-โลก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ

ม.หอการค้าไทยได้ร่วมกันได้จัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรไทย 3 สินค้าสำคัญ (ข้าวแปรรูป มะพร้าวน้ำหอมและทุเรียนแปรรูป) ในอีก 3 ปีข้างหน้า (โดยเน้นด้านการค้าและการลงทุน) รวมทั้งจัดทำคู่มือต้นแบบธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อการแข่งขันในตลาดอาเซียนและโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก่อนที่จะไปถึงยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรไทยนั้น ผมขอเริ่มจากปัญหาสินค้าเกษตรไทยที่จะต้องไปแข่งขันในเวทีอาเซียนและโลกก่อนนะครับ

ผมสามารถสรุปประเด็นได้สัก 6 ประเด็นคือ หนึ่ง ต้นทุนการผลิตสูงและผลผลิตต่อไร่ต่ำ นี้คือปัญหาเดิมๆ ของสินค้าเกษตรไทย ซึ่งที่ผ่านมากี่ยุคกี่สมัยปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบไกลครับ เฉพาะในอาเซียนเราก็รั้งท้ายสุดของผลผลิตต่อไรส่วนที่ขึ้นอันดับต้นๆ คือการมีต้นทุนการผลิตที่สูงมากในอาเซียน เฉพาะข้อที่หนึ่งดูเหมือนว่าเราจะแข่งลำบากแล้ว สอง การบริหารจัดการผลผลิตที่ผิดพลาด ไทยไม่ได้มีปัญหาความต้องการสินค้าเกษตร แต่ประเทศไทยมีปัญหาด้านการบริหารจัดการผลผลิตว่าจะขายให้ใคร ขายให้ตลาดไหน และต้องทำสินค้าเกษตรอย่างไรที่ตรงกับความต้องการตลาดโลกและอาเซียน

สาม การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) เปอร์เซ็นต์ทั้งประเทศยังต่ำมาก GAP มีทั้งหน่วยงานราชการและมาตรฐานระบบการผลิตสำหรับภาคเกษตรของไทยภาคเอกชน (ThaiGAP) ผมไม่มีตัวเลขของ ThaiGAP แต่มีตัวเลขของ GAP ว่า พื้นที่ปลูกข้าว 63 ล้านไร่ ได้ GAP เพียง 0.4% มะพร้าวได้ GAP เพียง 1.5% และทุเรียนได้ GAP 11% ตัวเลขเหล่านี้ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบว่าเราต้องไปแข่งขันในอาเซียนและตลาดโลกที่ต้องการใบรับรอง GAP

สี่ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสุขภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์จึงเป็นที่ต้องการในตลาดโลก แต่ไทยจะทำได้แค่ไหนในเมื่อ GAP ที่เป็นมาตรฐานขั้นแรก เรายังทำได้อยู่ในระดับต่ำ ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขระบุว่าไทยผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้จำนวนเท่าไรและกี่เปอร์เซ็นต์ ผมประเมินว่าไม่น่าจะเกิน 1% เพราะระดับของเกษตรอินทรีย์ยังเป็น “เบี้ยหัวแตก” และ “ต่างคนต่างทำ” จึงแบ่งการทำเกษตรอินทรีย์ของไทยออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. เกษตรอินทรีย์โดยตนเอง สร้างมาตรฐานเอง 2.เกษตรอินทรีย์โดยชุมชนเกษตรกรที่รับรองกันเอง และ 3. อินทรีย์ประเทศไทย (Organic Thailand) ทั้งสามประเภทที่เรามีอยู่ขณะนี้ ในตลาดพรีเมี่ยมอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรป ยังไม่ยอมรับ และทำให้วันนี้เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการบางกลุ่มจึงต้องเสียเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานออแกนิกสากล เช่น IFoam และ USDA Organic เพื่อให้ขายได้ในตลาดโลก

ห้า ชุมชนเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ยังขาดองค์ความรู้อยู่ 2 เรื่อง คือการตลาดและนวัตกรรมในการแปรรูป ต้องบอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลการตลาด เช่น รสนิยมผู้บริโภค ช่องทางจำหน่าย หุ้นส่วนธุรกิจ และกฎระเบียบ นอกจากนี้การใช้นวัตกรรมในการแปรรูปก็เป็นอีกข้อจำกัด นวัตกรรมที่ผมหมายถึงไม่ใช่เงินทุนที่มากมาย แต่เป็นเรื่องความคิดที่แตกต่างตั้งแต่การผลิตรวมถึงการแปรรูป

สุดท้ายคือคลัสเตอร์สินค้าเกษตรแปรรูปยังไม่เข้มแข็ง และยังมีการรวมตัวกันไม่มากพอเพื่อทำธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูปขายในตลาดโลก

หันมาดูยุทธศาสตร์สำคัญของสินค้า 3 ตัว ทั้งข้าวแปรรูป มะพร้าวน้ำหอม และทุเรียน ในตลาดมาเลเซีย จีนและสหรัฐ สิ่งที่ยุทธศาสตร์ของ สนค. เน้นมากที่สุดคือการแปรรูปสินค้าเกษตร หากไทยแปรรูปสินค้าเกษตรเต็มรูปแบบในอีก 5 ปี ข้างหน้า (ปี 2020) จะทำให้มูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านล้านบาท จากเดิมที่มีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปกติที่มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 20

สำหรับยุทธศาสตร์ข้าวแปรรูป ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการแข่งขันในตลาดอาเซียนและโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการอยู่ 3 เรื่องคือ ผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรไทยให้ได้นับมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเร็วอาจจะร่วมกับภาคเอกชนช่วยออกใบรับรองเกษตรออแกนิกไทย ผลักดันให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จำนวนห้องแล็ปในการทดสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรต้องมีมากพอที่จะทำให้เกษตรกรเข้าใช้บริการและลดค่าใช้จ่ายตรวจสินค้า

โดยรัฐอาจจะเข้ามาช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ขณะเดียวกันควรดำเนินการให้มีจังหวัดเกษตรปฏิบัติที่ดีและจังหวัดเกษตรอินทรีย์นำร่อง ซึ่งในที่นี้ผมขอเสนอจังหวัดเชียงใหม่ เหตุผลเพราะมีการตื่นตัวทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ตามด้วยการสร้างเครือข่ายเกษตรกรกับกลุ่ม “SMEs Startup” เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดการแปรรูป ช่วยลดต้นทุนให้กับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่และช่วยเกษตรกรป้อนวัตถุดิบให้กับกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเป็นศูนย์ข้อมูลตลาดแปรรูปข้าวเชิงลึก ซึ่งประกอบด้วย รสนิยมและอายุของผู้บริโภคและกฎระเบียบส่งออก-นำเข้าของประเทศต่างๆ ช่องทางการจำหน่าย งานแสดงสินค้าในแต่ละปีและรายชื่อผู้นำเข้า

สำหรับมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็น สินค้าเกษตรดาวรุ่ง (Rising Star)” ในปัจจุบันและอนาคต ยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันในตลาดอาเซียนและโลกคือ

1.ส่งเสริมและผลักดันให้เพิ่มพื้นที่ปลูกมพร้าวน้ำหอมในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพของภาคกลางรวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมในการปลูก โดยพิจารณา 2 เรื่องสำคัญคือปริมาณน้ำที่มากพอ (ฝนต้องมี 1,500 มิลลิเมตรต่อปี) และดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากพอ ดินเหนียวอุ้มน้ำเหมาะสมมาก และด้วยอาเซียนร่วมเป็น ตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียวกัน เราต้องใช้พื้นที่เกษตรของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปลูกมะพร้าว แล้วส่งมาแปรรูปบรรจุกล่องที่โรงงานในไทย สปป.ลาวเป็นประเทศที่น่าสนใจในการเช่าพื้นที่ปลูกมะพร้าว

2.การจัดตั้งสถาบันมะพร้าวแห่งชาติ (Thailand Coconut Institute : TCI) เพื่อดูแลมะพร้าวทั้งระบบตั้งแต่ปลูกไปจนถึงแปรรูปส่งขายในต่างประเทศ ประกอบด้วยฐานข้อมูลพื้นที่ปลูก จำนวนต้น จำนวนเกษตรกร นวัตกรรมในการแปรรูป และความต้องการของแต่ละตลาด เป็นต้น 3.ผลักดันและส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวมากขึ้น เช่น น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil : CO) และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Virgin Coconut Oil : VCO) เพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออก เพราะขณะนี้มูลค่าการส่งออกยังต่ำมากเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ส่วนยุทธศาสตร์ทุเรียนนั้นหลักๆ มีอยู่ 2 ประเด็นคือ 1.ผลักดันให้เดินการแปรรูปทุเรียนให้มากขึ้นซึ่งเมื่อเทียบกับมาเลเซียแล้ว ทุเรียนไทยจะมีมูลค่าในการแปรรูปน้อยกว่าเพราะเรานิยมขายทุเรียนสด ขณะเดียวกันมาเลเซียส่งเสริมธุรกิจทุเรียนแปรรูป เช่น มีร้านขายทุเรียนแปรรูปในห้างสรรพสินค้า 2.การแก้ปัญหาล้งจีนที่เข้ามาทำธุรกิจทุเรียน สำหรับต้นแบบธุรกิจที่จะต้องทำตลาดในมาเลเลเซีย จีนและสหรัฐ มีลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างกัน ตลาดมาเลเซียสินค้าแปรรูปสิ่งจำเป็นอันดับแรกที่จะเข้าไปขายต้องมีตราฮาลาล (Halal)

ส่วนกฎระเบียบการนำเข้านั้นจำเป็นต้องทราบในทุกตลาดอยู่แล้ว ซึ่งเหมือนกับในตลาดจีนที่เข้มงวดเช่นกัน และตลาดจีนเพิ่มเติมประเด็นเรื่อง หุ้นส่วนธุรกิจ และช่องทางในการจำหน่าย ส่วนตลาดสหรัฐ นั้นสิ่งสำคัญในการเจาะคือ สินค้าแปรรูปต้องได้มาตรฐาน 3 เรื่อง Organic, Non-GMO และ Gluten Free ซึ่งทั้งสามตลาดที่เหมือนกันคือ ข้อมูลส่วนประกอบของอาหาร (Nutrition Fact) ที่ผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสินค้าอาหารให้ความสำคัญมากๆ