ปัจจัย 2T นำชัยให้นักวิ่งลมกรดญี่ปุ่น

ปัจจัย 2T นำชัยให้นักวิ่งลมกรดญี่ปุ่น

เป็นประวัติศาสตร์ความผิดพลาดซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง สำหรับทีมนักวิ่งผลัดชาย 4 คูณ 100 เมตรจากสหรัฐ

ในการแข่งขันโอลิมปิคครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการตอกย้ำปัญหาเดิมๆ ซ้ำซากของทีมนักวิ่งผลัดลมกรดจากสหรัฐที่แพ้ฟาล์วหรือถูกปรับแพ้มาแล้วถึง 9 ครั้งนับตั้งแต่ 1995 ทั้งในรายการแข่งขันโอลิมปิคและรายการกรีฑาชิงแชมป์โลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะเชื่อหรือยากเข้าใจได้ว่า ทำไม ทีมนักวิ่งระดับโลกจากสหรัฐ (ทั้งชายทั้งหญิง) ที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน และเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรเป็นแชมป์เจ้าลมกรดในโอลิมปิคถึง 15 สมัย จึงประสบปัญหาผิดพลาดง่ายๆ ในช่วงเวลาสำคัญที่สุด โดยยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

โดยเฉพาะนับตั้งแต่คว้าเหรียญทองครั้งสุดท้ายในโอลิมปิคปี 2000 ทีมนักวิ่งลมกรดสหรัฐถูกจับแพ้ฟาล์วเพราะส่งไม้ผิดพลาด (จนกลายเป็นเรื่องปกติ) ในโอลิมปิคปี 2004 และปี 2008 และในรายการกรีฑาชิงแชมป์โลกปี 2005, 2009, 2011, 2013, 2014, และ 2015 (ผิดพลาดสี่ปีติดต่อกันระหว่างปี 2013-2016) จนเชื่อได้ว่าเป็นปัญหาทางจิตวิทยา กลัวผิดพลาดที่ติดตัวนักวิ่งอเมริกันไปแล้ว เป็นสภาพที่ไม่แตกต่างจากนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาแพ้ทุกครั้งเมื่อต้องตัดสินเกมการแข่งขันด้วยการยิงที่จุดโทษมาตั้งแต่ปี 1990

จนนำไปสู่คำถามว่า ระหว่างทีมนักวิ่งสหรัฐกับทีมนักฟุตบอลอังกฤษ ใครจะสามารถก้าวข้ามหรือปลดล๊อคภาวะจิตกังวลนี้ได้ก่อนกัน

ในขณะที่นักวิ่งอเมริกันยังไม่สามารถหาคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหาเดิมๆ จนส่งผลทำให้พบกับความพ่ายแพ้ไม่หลงเหลือคลาสอันยิ่งใหญ่ในอดีต ไม่น่าเชื่อว่า ทีมนักวิ่งผลัดลมกรดของญี่ปุ่นกลับสามารถทำในสิ่งที่นักวิ่งลมกรดระดับโลกของสหรัฐล้มเหลวมาตลอดร่วมสองทศวรรษ และเชื่อว่า เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่ทำให้ทีมนักวิ่งญี่ปุ่นช๊อคโลกกีฬาด้วยการเข้าเส้นชัยเป็นที่ 2 คว้าเหรียญเงินประวัติศาสตร์ได้อย่างน่ามหัศจรรย์

นักวิ่งญี่ปุ่นและสต๊าฟโค๊ชล้วนตระหนักและยอมรับว่า ณ เวลาปัจจุบันนี้ ยังไม่สามารถปรับ speed เพิ่มความเร็วของนักวิ่งแต่ละคนให้เขยิบเข้าใกล้กลุ่มนักวิ่งผิวสีระดับโลกทั้งหลายได้ ยังไม่มีนักวิ่งญี่ปุ่นคนใดวิ่งระยะ 100 เมตรได้ต่ำกว่า 10 วินาที และไม่มีนักวิ่งญี่ปุ่นคนไหนผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศเจ้าลมกรดในโอลิมปิคครั้งนี้ได้

แต่ในประเภทวิ่งผลัดแล้วต้องถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีมนักวิ่งญี่ปุ่นโชคดีที่กลายเป็นข้อได้เปรียบก็คือมี sense of group ที่ติดตัวเป็นทุนทางพันธุกรรม เมื่อรวมกันเป็นทีมแล้ว ทีมญี่ปุ่นมักจะมีteamwork เป็นธรรมชาติที่ทรงพลังอย่างยิ่ง (ตรงกันข้ามกับนักกีฬาไทยที่จะมีศักยภาพในกีฬาประเภทเดี่ยวมากกว่า)

เพราะฉะนั้นแล้ว แทนที่จะมุ่งเน้นแก้ปัญหาในจุดอ่อนเพื่อหาทางปรับเพิ่ม speed ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานาน (กว่าที่จะเห็นนักวิ่งญี่ปุ่นวิ่งได้ต่ำกว่า 10 วินาที) นักวิ่งญี่ปุ่นจึงวางแผนและตระเตรียมพัฒนาพัฒนาจากจุดแข็ง นั่นคือ teamwork เพื่อเพิ่มโอกาสของทีมให้มากขึ้น โดยการเน้นฝึกฝนและตระเตรียมในเรื่องของ technique โดยเฉพาะเทคนิคการส่งไม้ที่สามารถชี้ขาดผลแพ้ชนะได้

ว่ากันว่า ทีมนักวิ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญและมุ่งมั่นฝึกซ้อมการส่งไม้เป็นเวลานานถึง 6 เดือนก่อนเดินทางมาแข่งขันที่บราซิลในครั้งนี้ มากกว่าทุกๆทีม จนกระทั่งชาวโลกได้เห็นเป็นประจักษ์และนักวิ่งคู่แข่งขันก็ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การส่งไม้ของทีมญี่ปุ่นถือว่าราบรื่นสมบูรณ์ที่สุดจนไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ โดยเฉพาะในไม้สุดท้ายนั้น จะเห็นได้ว่า นักวิ่งญี่ปุ่นรับไม้ก่อนนักวิ่งชาติอื่นๆ เป็นเทคนิคที่นักวิ่งสหรัฐฯน่าจะเรียนรู้จากทีมญี่ปุ่นได้ หากคิดจะทวงความยิ่งใหญ่ในอนาคต

ในอนาคต หากนักวิ่งญี่ปุ่นยังสามารถรักษาจุดแข็ง 2T ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการพัฒนา speed ความเร็วให้ดียิ่งขึ้น หากนักวิ่งสหรัฐยังคงแก้ปัญหาความผิดพลาดเดิมๆ ไม่ได้ และหากทีมจาไมก้ากลายเป็นอีกทีมหนึ่งที่ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนช่วงมียูเซน โบลล์ ร่วมทีมแล้ว

มีโอกาสความเป็นไปได้สูงมากที่ทีมนักวิ่งลมกรดผิวเหลืองแห่งเอเซียจะครองความเป็นหนึ่งในประเภทวิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตร ทำลายกฎเกณฑ์ความเชื่อเดิมๆ ว่า ตำแหน่งเจ้าแห่งความเร็วบนลู่วิ่งเป็นของคนผิวสีเท่านั้น

----------------------

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

[email protected]