มาตรการสิ่งแวดล้อม: อุปสรรคหรือโอกาส

มาตรการสิ่งแวดล้อม: อุปสรรคหรือโอกาส

ความสามารถแข่งขันของไทยในปัจจุบัน ต้องต่อสู้กับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ซึ่งเติบโตจากเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายและอินเทอร์เน็ต ที่ช่วยให้ธุรกิจ startup เติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องมีโรงงานหรือหน้าร้านทางกายภาพ เช่น Pokémon GO ที่เป็นเกมที่ทำรายได้สูงสุดถึง 206.5 ล้านดอลลาร์ภายในเดือนแรก

ธุรกิจหรือสินค้าที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา อาจล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่นที่เกิดกับบริษัทโนเกียเมื่อ IPhone เกิดขึ้น หรือการที่พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว (ดูภาพ) และการกำเนิดขึ้นของรถไฟฟ้า ที่ส่งผลต่อความตกต่ำของราคาน้ำมัน และการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

สินค้าส่งออกซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นอีก คือไม่เพียงแต่จะต้องราคาถูก แต่ยังต้องผ่านมาตรฐานระหว่างประเทศที่เข้มงวดด้วย โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (climate change, CC) ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว สหประชาชาติได้ลงมติรับรอง ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งระบุให้ ทุกประเทศต้องมีส่วนร่วม ในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของ CC ความตกลงดังกล่าวตั้งเป้าหมายที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2°C เพื่อไม่ให้เกิดมหันตภัยทางธรรมชาติ

เพื่อเป้าหมายดังกล่าว ไทยเสนอ Intended Nationally Determined Contributions (INDCs) หรือเจตจำนงในการลด GHGs ที่ 20-25% จากการศึกษาโดย Climate Action Tracker เพื่อประเมินผลของการลด GHGs จากผลรวมของ INDCs ทุกประเทศ พบว่ายังไม่เพียงพอ เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะยังเพิ่มขึ้นถึง 2.7OC ซึ่งแสดงว่าจะต้องมีการเรียกร้องให้ทุกประเทศ (รวมทั้งไทย) ต้องร่วมกันลด GHGs เพิ่มขึ้นอีก การกดดันอาจทำผ่านการเจรจาหรืออาจมาในรูปของการเพิ่มมาตรฐานการผลิตสินค้าที่ต้องมีการปล่อย GHGs ที่ต่ำ ซึ่งเรียกว่าการปรับค่าคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน

ดังนั้น ไทยอาจจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่เป็น “ยาแรง” เพื่อบรรลุเป้าหมายในที่สุด เช่น ภาษีคาร์บอน หรือตลาดคาร์บอน คำถามที่น่าสนใจก็คือ ยาแรงเหล่านี้จะกระทบต่อการแข่งขันของไทยหรือไม่

เพื่อตอบคำถามนี้ผู้เขียนได้ทำการวิจัยประเมินผลกระทบของมาตรการตลาดคาร์บอนต่อความสามารถแข่งขัน โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ชื่อ GTAP-E Version 9 ซึ่งเป็นฐานข้อมูล ของปี 2011 และทำการคำนวณความสามารถแข่งขันของสินค้าไทยด้วยดัชนี Normalized Reveled Comparative Advantage หรือ NRCA หากค่าของดัชนีของสินค้ามีค่ามากกว่าศูนย์ แสดงว่าสินค้าดังกล่าวของประเทศนั้น มีความสามารถในการแข่งขัน แต่ถ้ามีค่าติดลบมาก แสดงว่าไม่สามารถแข่งขันได้

ผลของการคำนวณพบว่า สาขาการผลิตที่ไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบหรือแข่งขันได้ดี ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (9.35) ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และพลาสติก (8.28) อุตสาหกรรมอาหาร (6.59) ข้าว (3.27) บริการขนส่ง (2.08) และยานยนต์และชิ้นส่วน (1.59) ส่วนสินค้าที่ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันหรือแข่งขันได้น้อย ได้แก่ น้ำมันดิบ (-9.64) บริการอื่นๆ (-8.77) อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น (-4.76) อุตสาหกรรมอื่น (-1.94) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (-1.45)

เมื่อทำการทดลองด้วยการให้ไทยจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงฝ่ายเดียวลง 20% แล้วใช้ตลาดคาร์บอนเครดิต พบว่าความสามารถในการแข่งขันนั้นอาจเป็นได้ทั้งเลวลงและดีขึ้น

สาขาการผลิตที่เลวลง ได้แก่ สาขาที่ใช้พลังงานสูง เช่น บริการขนส่ง (-34.63%) อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นอื่นๆ (-23.63%) ไฟฟ้า (-16.63%) สินค้าเกษตรอื่นๆ (-2.54%) สาขาที่เดิมแข่งขันได้ แต่แข่งขันได้ลดน้อยลง เช่น บริการขนส่ง (-34.63% แต่ NRCA ยังเป็นบวก = 1.36) ข้าว (-0.37%) และน้ำตาล (-0.87%) สาเหตุหลักก็เป็นเพราะการจำกัดการปล่อยก๊าซ ทำให้ต้นทุนการผลิตของสาขาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมากโดยเปรียบเทียบกับสาขาอื่นเพราะต้องจ่ายซื้อคาร์บอนเครดิตมากขึ้น

แต่ความสามารถแข่งขันของบางสาขากลับเพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน (+10.71%) ผลิตภัณฑ์ (+6.91%) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (+5.86%) อุตสาหกรรมอาหาร (+1.11%) เนื่องจากการลดลงของความสามารถในการแข่งขันของสาขาที่มีการใช้พลังงานเข้มข้น และที่มีความสามารถแข่งขันต่ำอยู่แล้ว เปิดโอกาสให้สาขาเหล่านี้ (ที่จ่ายซื้อคาร์บอนเครดิตในสัดส่วนที่น้อยกว่า) สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นโดยเปรียบเทียบ

ผลการคำนวณชี้ให้เห็นว่า การบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการค้าระหว่างประเทศเสมอไป มาตรการสามารถที่จะสร้างโอกาสในการแข่งขันที่ดีขึ้นได้ งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า หากทดลองให้ประเทศในอาเซียนอื่นใช้มาตรการตลาดคาร์บอนร่วมกับไทยและจำกัดการปล่อย GHGs ลง 20% ร่วมกัน

ผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยจะทุเลาปัญหาลง และในบางกรณียังช่วยให้สินค้าของไทยบางชนิดแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นด้วย มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอุปสรรคเสมอไป แต่อาจช่วยสร้างโอกาสให้กับการแข่งขันก็ได้

-------------------------

รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์