จุดอ่อนระบบการศึกษาจีน

จุดอ่อนระบบการศึกษาจีน

เมื่อต้นเดือนนี้ได้มีการเผยแพร่ผลวิจัยเรื่องระบบการศึกษาจีน โดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

ซึ่งพบว่าเด็กที่จบชั้นมัธยมของจีนมีความรู้ และที่สำคัญ มีทักษะการวิเคราะห์ที่เยี่ยมยอดกว่าเด็กในสหรัฐ และรัสเซีย!!

เรียกได้ว่า ช็อควงการการศึกษาของสหรัฐ เพราะที่ผ่านมา นักการศึกษาในสหรัฐมักเชื่อว่าระบบการศึกษาในชั้นประถมและมัธยมของจีน เน้นการท่องจำ เน้นฝึกทำข้อสอบ แต่ไม่ได้สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ตรงกันข้ามกับโรงเรียนในสหรัฐ ดังนั้น แม้ว่าเด็กอเมริกันจะความรู้ไม่แน่นเท่าเด็กจีนแต่โรงเรียนสหรัฐ สามารถสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่า

Prashant Loyalka และ Scott Rozelle นักวิจัยด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ให้เด็กที่เข้าศึกษาในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในจีน สหรัฐ และรัสเซีย จำนวนมากกว่า 1,000 คนทำแบบทดสอบความรู้พื้นฐานคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และทำแบบทดสอบทักษะการคิดวิเคราะห์ ผลคะแนนพบว่าเด็กจีนมีความรู้ รวมทั้งมีทักษะการคิดวิเคราะห์ดีกว่าเด็กสหรัฐและรัสเซีย

แต่ข่าวร้ายก็คือ เมื่อเรียนในมหาวิทยาลัยไปได้ 2 ปีเด็กจีนกลับแทบไม่มีพัฒนาการในเรื่องการคิดวิเคราะห์มากขึ้นเลย โดยทำคะแนนได้ในระดับเดิมเรียกว่า สมองหยุดอยู่กับที่ขณะที่เด็กในสหรัฐ และรัสเซีย กลับมีพัฒนาการด้านการคิดวิเคราะห์ดีขึ้นภายหลังจากที่เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

สรุปสั้นๆ ก็คือจุดอ่อนของระบบการศึกษาจีนไม่ได้อยู่ที่ระบบการเรียนการสอนที่แสนโหดแสนหนักในช่วงมัธยม แต่อยู่ที่ระบบการเรียนการสอนอันหย่อนยานในระดับมหาวิทยาลัยของจีนต่างหาก โรงเรียนมัธยมของจีนสามารถฝึกเด็กให้มีความรู้และมีทักษะการคิดวิเคราะห์ใช้ได้ทีเดียว แต่มหาวิทยาลัยจีนกลับไม่สามารถพัฒนาเด็กให้เก่งขึ้นได้

จากการลงพื้นที่ของทีมวิจัยพบว่า หลังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่แสนโหด เด็กจีนมักรู้สึกเหนื่อยและขาดไฟที่จะเรียนรู้ต่อไปอีกกลับเกิดความรู้สึกว่าเรียนมหาวิทยาลัยนั้น ฉันจ่ายครบก็จบแน่เหมือนกับได้กระโดดข้ามรั้วของการเข้ามหาวิทยาลัยไป แล้วช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นช่วงพักผ่อนให้หายจากที่เหนื่อยล้ามานานในวัยมัธยม

เด็กที่สอบได้มหาวิทยาลัยทั่วไปที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยชั้นนำ ก็มักรู้สึกว่าการแข่งขันในตลาดงานเข้มข้นยิ่งนัก โดยที่พวกเขาเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มต้น เพราะนายจ้างมักนิยมเด็กที่จบจากมหาวิทยาชั้นนำมากกว่า เมื่อรู้ว่าโอกาสตนเองมีจำกัดตั้งแต่แรก หลายคนจึงหมดกำลังใจที่จะตั้งใจเรียนหรือพัฒนาทักษะของตนเอง เพราะคิดว่าขยันไปก็เท่านั้น ในเมื่อสุดท้ายแล้ว หนึ่งในห้าของคนที่จบมหาวิทยาลัยหางานไม่ได้ในช่วงปีแรกหลังเรียนจบ

นอกจากนั้นตัวพ่อแม่ของเด็กเองก็ไม่ได้กดดันเด็กเหมือนสมัยมัธยมอีกต่อไป ในช่วงมัธยมนอกจากพ่อแม่จะกดดันเด็กให้อ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำแล้วยังกดดันครูและโรงเรียนมัธยมให้ทำการเรียนการสอนอย่างเต็มที่อีกด้วย แต่เมื่อเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วพ่อแม่ก็รู้สึกเหมือนได้ส่งลูกเข้าฝั่งไปแล้วและลดความสนใจในเรื่องการศึกษาของลูกลง

ส่วนตัวมหาวิทยาลัยจีนเองก็มักทุ่มเททรัพยากรไปที่การวิจัยโดยมุ่งให้อาจารย์ตีพิมพ์ผลงานในวารสารระดับโลกให้ได้ เพื่อจะได้ให้มหาวิทยาลัยจีนไต่ลำดับมหาวิทยาลัยโลกให้สำเร็จเรียกว่าชื่อเสียงเงินเดือน และเกียรติยศของอาจารย์อยู่ที่ผลการวิจัย และผลงานตีพิมพ์แต่ไม่ได้อยู่ที่คุณภาพการสอนในห้องเรียนและพัฒนาการของนักศึกษาเลย

ปัญหาของมหาวิทยาลัยจีนนั้น คงต้องมีการปรับปรุงต่อไป แต่ความสำเร็จของโรงเรียนมัธยมจีนต้องเรียกได้ว่าน่าทึ่งไม่เบา เพราะเด็กจีนที่จบมัธยมชนะเด็กสหรัฐ และรัสเซีย ทั้งในเรื่องความรู้และทักษะการคิดวิเคราะห์ได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาเฉพาะกลุ่มนักเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้ศึกษานักเรียนที่เข้าศึกษาในคณะและสาขาวิชาอื่น รวมทั้งนักเรียนที่จบมัธยม แต่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยดังนั้น ข้อสรุปที่ว่า นักเรียนจีนมีความรู้และทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดี อาจจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีจนสามารถเข้าเรียนในสาขาวิชาที่เป็นที่ที่นิยมอย่างวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ก็เป็นได้ (แต่ข้อเท็จจริงที่นักเรียนกลุ่มนี้ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดีกว่านักเรียนวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ในสหรัฐ และรัสเซีย ก็ยังนับว่าน่าสนใจมาก)

นอกจากนั้น ทีมวิจัยชุดนี้ได้ทำการทดสอบเฉพาะความรู้และทักษะการคิดวิเคราะห์ แต่ไม่ได้ทดสอบความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไปทีมวิจัยได้แถลงว่า โครงการต่อไปก็คือการทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน 3 ประเทศ เปรียบเทียบกัน

แต่เดิม นักการศึกษาอเมริกัน มักคิดว่า เด็กจีนความรู้แน่น แต่คิดวิเคราะห์ไม่เป็นและไม่มีความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า เมื่อจบมัธยม เด็กจีนนอกจากความรู้แน่นแล้ว ยังมีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดีกว่าเด็กในสหรัฐ และรัสเซียอีกด้วยจึงน่าติดตามผลการศึกษาในโครงการต่อไปว่า เด็กจีนจะทั้งความรู้แน่น คิดวิเคราะห์เป็น แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์ด้วยหรือไม่

นักธุรกิจชื่อดังชาวจีน Eric Li ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยเรื่องนี้ของสแตนฟอร์ด มองว่า ทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นทักษะที่สำคัญในการทำธุรกิจ เขาเชื่อว่าสังคมจีนเป็นสังคมผู้ประกอบการที่เข้มแข็งและมีพลัง ดูจากการที่คนจีนคิด มองหาโอกาส และสร้างธุรกิจได้เก่ง เพราะการศึกษาภาคบังคับของจีนสามารถฝึกการคิดวิเคราะห์ได้ดีพอควร ปัญหาต่อไปก็คือ จะทำอย่างไรให้การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้ดีขึ้นไปอีก รวมทั้งทำอย่างไรให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เพราะทักษะการคิดวิเคราะห์ชั้นสูงและความคิดสร้างสรรค์ นับเป็นหัวใจที่จะช่วยยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของธุรกิจในประเทศ

มองย้อนกลับมาที่ไทย เราควรต้องตระหนักว่าการศึกษามีสามมิติ คือความรู้ การคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น การศึกษาไม่ว่าจะเป็นในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัยควรต้องพัฒนาเด็กให้ได้ทั้งสามมิติอย่างต่อเนื่อง

น่าคิดว่า ถ้าวันนี้ให้เด็กไทยทำแบบทดสอบความรู้ ทักษะการคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ เปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ แล้ว เราจะมองเห็นอนาคตของชาติที่น่าภูมิใจหรือน่าเป็นห่วง