เศรษฐกิจจีน....ถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว?

เศรษฐกิจจีน....ถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว?

“เกี่ยวอะไรกับเรา” ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมองทิศทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นบทความที่เขียนไว้ทั้งหมด 3 ตอน

โดยฉบับนี้เป็นตอนที่1 จาก3 ตอนครับ  I. จุดเริ่มต้นของปัญหา จีนพยายามปรับนโยบายเศรษฐกิจที่พึ่งพาการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักเพื่อการส่งออกมาสู่การผลักดันเศรษฐกิจในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีนฉบับที่10 เป็นต้นมา ซึ่งเน้นการขยายสังคมเมืองและเพิ่มรายได้ที่ใช้จ่ายจริงของประชากร ถึงแม้ว่าจีนพยายามที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แต่ในความเห็นของผม สิ่งที่เป็นความท้าทายสูงสุดของทางการจีนคือ “การบริหารขั้นตอนการเปลี่ยนถ่าย จากระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีในบริบทของจีน” ที่ดูเหมือนว่ายังหาจุดสมดุลในการเชื่อมต่อของนโยบายไม่เจอ ซึ่งพิจารณาได้จาก 5ข้อสังเกตสำคัญดังต่อไปนี้:

 1. การคอรัปชั่นที่บั่นทอนความคงอยู่ในระยะยาวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นและไม่สามารถแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพได้หากไม่มีการวางแผนปฏิรูประบบกฎหมายรวมถึงหลักนิติธรรม แต่ในมุมกลับกันแนวคิดดังกล่าว มีรากเหง้ามาจากหลักบริหารแบบตะวันตก ที่อาจเป็นยาขมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

2. การมีรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ขาดการบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

3. การมีระบบระบบธนาคารที่อ่อนแอโดยปล่อยกู้ให้กับรัฐวิสากิจและรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นแต่ขาดการวางแผนเพื่อการเติบโตในระยะยาวเป็นผลทำให้เกิดหนี้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีของจีนอยู่ประมาณ 280% ซึ่งปัญหาหนี้ของจีนนั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในตัวเอง เพราะการที่จีนมีหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง พร้อมโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การขาดสภาพคล่องทางสินเชื่อ อาจทำให้เศรษฐกิจจีนยิ่งชะลอตัว และบนเศรษฐกิจที่ถดถอย ยิ่งจะทำให้การชำระหนี้เป็นไปได้ยากขึ้น

4. นโยบายการควบคุมการลงทุนให้อยู่ในประเทศซึ่งทำให้เงินออมส่วนใหญ่ของประชาชนอยู่ในระบบสถาบันการเงินที่ ขาดความน่าเชื่อถือบนอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อประกอบกับตลาดหุ้นที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ทำให้ช่องทางการลงทุนของชนชั้นกลางมีจำกัดและนำไปสู่การเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จนเกิดฟองสบู่

5. ระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคมประกันสุขภาพและการศึกษาจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องออมเงินมากกว่าการใช้จ่าย

ผลพวงจากปัญหาข้างต้นทำให้เกิดความไม่สมดุลของสมการรายได้ประชาชาติ ซึ่งมีการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้นแต่การบริโภคและใช้จ่ายลดลงไปอย่างมาก โดยหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ารายได้หลังหักภาษีและรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงต่อครัวเรือนเมื่อคิดเป็นอัตราร้อยละ มีการลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลบวกไปยังภาคครัวเรือนอย่างแท้จริง

 ถึงแม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีนในฉบับที่ 12 ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และมีจุดประสงค์ที่จะปรับสมดุลผ่านกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยมุ่งเน้นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ การขยายธุรกิจบริการ และการเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจจีน ยังเป็นรูปแบบการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนักอยู่ จึงเปรียบเสมือนการดำเนินนโยบายผ่านเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมมีการชะลอตัวอย่างเป็นนัยยะสำคัญและดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรนี้ไปได้ ปัญหาดังกล่าวจึงสอดคล้องกับความกังวลในเศรษฐกิจจีนล่าสุด ที่มีมากขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2558 หลังจากการลดค่าเงินหยวนถึง2ครั้งภายในเดือนเดียว โดยทางการจีนชี้แจงว่า เป็นการปรับสมดุลของค่าเงินตามวิสัยอันควร เพราะหากมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2548 ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นถึง 33% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่อีกด้านหนึ่งของข้อมูลกลับแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งทำให้ตลาดทั่วโลกตื่นตระหนกว่า ทางการจีนอาจหาทางออกที่ง่ายที่สุดผ่านการลดค่าเงิน จนค่ายเศรษฐกิจฝั่งตะวันตก เริ่มพูดถึงประเด็นของสงครามค่าเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในฉบับหน้าเรามาดูกันครับว่า "เศรษฐกิจจีน....ถึงขั้นวิกฤตหรือแค่ชะลอตัว"