Blockchain: จุดเปลี่ยนการเงินโลก

Blockchain: จุดเปลี่ยนการเงินโลก

เชื่อมโยงทางธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น จนสั่นสะเทือนตลาดและข่ายธุรกิจที่มีมาก่อน

นับวันดูเหมือนโลกจะวิ่งเร็วกว่าที่เราคิด และวิ่งเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ จนหากใครลองไปติดเกาะอยู่ซัก 5 ปี กลับมาอีกที แทบจะคุยกับใครไม่รู้เรื่องกันเลยทีเดียว

หนึ่งในคำที่หลายท่านน่าจะได้ยินกันมาพักหนึ่งแล้ว นั่นคือคำว่าบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายกล่าวกันว่าจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะสั่นสะเทือนโลก (Disruptive Technology) ก่อให้เกิดตลาด และความเชื่อมโยงทางธุรกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้น จนสั่นสะเทือนตลาดและเครือข่ายธุรกิจที่มีมาก่อน รวมถึงเข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์ พันธมิตร และผู้นำตลาดเดิม เช่น การเกิดขึ้นคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (เครื่องพิมพ์ดีดหายไป) อีเมล (ทำให้การส่งจดหมายกลายเป็นอดีต) โทรศัพท์เคลื่อนที่ (การหยุดขยายตัวของโทรศัพท์บ้าน) สมาร์ทโฟนและแทบเล็ต (ทดแทนคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป และเลยไปถึงกล้องถ่ายรูป) โซเชียล เน็ตเวิร์ค (เปลี่ยนวิธีสื่อสารระหว่างกันแทบจะสิ้นเชิง)

ประชาคมด้านการเงินนั้นกล่าวขวัญถึงบล็อกเชนกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินชั้นนำของโลก และบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ถึงกับรวมตัวกันเพื่อศึกษาและทดสอบระบบร่วมกัน โดยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกเรียกว่ากลุ่ม R3 CEV (ตามชื่อบริษัทที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งกลุ่มขึ้น) มีวัตถุประสงค์เพื่อวางระเบียบวิธี และมาตรฐานในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับบริการด้านการเงิน ประกอบด้วย เจพี มอร์แกน, เครดิต สวิส, คอมมอนเวลท์แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย, บาร์เคลย์, บีบีวีเอ, สเตทสตรีท, รอยัลแบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ และยูบีเอส

กลุ่มที่สองเป็นการดำเนินการภายใต้การนำของมูลนิธิลีนุกซ์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาบล็อกเชนให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้โดยเสรี โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท ทั้งสถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและเทคโนโลยี เช่น แอคเซนเจอร์, ธนาคาร ANZ, ซิสโก้, ดอยซ์ เบอร์ส, ดิจิทัล แอสเส็ท โฮลดิ้ง, ดีทีซีซี, ฟูจิตสึ, ไอบีเอ็ม, อินเทล, เจพี มอร์แกน, ลอนดอน สต๊อค เอ็กซ์เชนจ์, เอ็มยูเอฟจี, อาร์ทรี, สเตทสตรีท, สวิฟท์, วีเอ็มแวร์ และเวลส์ฟาร์โก เป็นต้น

บล็อกเชนเป็นระบบฐานข้อมูล (Database) ซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นห่วงโซ่ ครอบคลุมเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ทั่วโลก และที่สำคัญคือ เป็นฐานข้อมูลที่ไม่มีใครเป็นผู้ควบคุม หรือเป็นศูนย์กลางในการควบคุม แต่มีระบบการเข้ารหัสที่สามารถสอบทานข้อมูลระหว่างกันได้อย่างเป็นปัจจุบันและเชื่อถือได้ตลอดเวลา เทคโนโลยีนี้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาของเงินเสมือนอย่าง Bitcoin ซึ่งทำให้การแลกเปลี่ยนเงินเสมือนระหว่างบุคคล เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารกลาง หรือธนาคารพาณิชย์ในการสอบทานถึงจำนวนของเงินเสมือนที่แต่ละบุคคลมีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังสามารถ “ติดตามและจัดเก็บ” ข้อมูล “การแลกเปลี่ยน” ของทุกสิ่งทุกอย่าง “ที่มีมูลค่า” เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ตราสารทางการเงินอื่นๆ หรือแม้กระทั่งโฉนดที่ดิน ทะเบียนรถยนต์ ภาพยนตร์ เพลง ซึ่งการแลกเปลี่ยนและการชำระราคานั้น จากเดิมอาจต้องใช้เวลา 2-3 วันหรือกว่านั้น ก็จะลดระยะเวลาลงเหลือเพียงแค่นาทีหรือวินาทีเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการชำระราคาแต่อย่างใด เพราะการแลกเปลี่ยนที่ว่าสามารถเกิดขึ้นได้ “โดยตรง” ระหว่างสมาชิกในเครือข่าย โดยทุกคนจะมีข้อมูล “ถูกต้อง” “ตรงกัน” และ “เป็นปัจจุบัน” “ตลอดเวลา”

นั่นคือ ความสำเร็จของเทคโนโลยีนี้จะช่วยขจัดความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้า (Counterparty Risk) ออกไปได้โดยสิ้นเชิง รวมถึงสามารถปลดปล่อยทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลที่รอการชำระราคาอยู่ให้สามารถกลับเข้ามาหาผลประโยชน์ได้แทบจะทันที และเนื่องด้วยสมาชิกทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย (ลูกค้า สถาบันการเงิน ฯลฯ) จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ถูกต้อง ตรงกันอยู่เสมอ ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นที่สถาบันการเงินจะต้องอุทิศทรัพยากรและกำลังคนหลังบ้าน (Back Office) ในการสอบทานรายการดังที่เคยเป็นมา ซึ่งเป็นการลดต้นทุนทางการเงินของทั้งระบบลงอย่างมหาศาลนั่นเอง