รถไฟฟ้าแบบไหน เปิดทางไว้ก่อน

รถไฟฟ้าแบบไหน เปิดทางไว้ก่อน

แทบทุกคนกำลังตื่นเต้นจับตารถไฟฟ้าของ Tesla ที่สวยงาม ความเร่งแสนดีที่กำลังเริ่มนำเข้ามาในไทย บางคนสั่งซื้อ

ล่วงหน้า 2 ปี ในราคา 1.3 ล้านบาท (ที่สหรัฐ) คาดกันว่ารัฐบาลจะลดภาษีให้ด้วย แล้วก็มีรถไฟฟ้ากระทัดรัดนั่งได้ 4 คนที่ออกแบบโดยญี่ปุ่นผลิตในไทย วิ่งในน้ำได้ จะออกตลาดปลายปีนี้ที่ราคาเพียง 3 แสนบาท

แม้ดิฉันเองตื่นเต้นด้วย แต่อยากจะเล่าสู่กันฟังว่ารถไฟฟ้า (EV - Electric Vehicle) ที่วิ่งตามถนนได้นี้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

- รถไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี (B-EV - Battery Electric Vehicle) ซึ่งต้องเสียบชาร์จไฟฟ้าจากระบบข้างนอกรถ เก็บไฟไว้ในแบตเตอรีเพื่อจ่ายให้มอเตอร์ใช้ในการขับเคลื่อนรถ

- รถไฟฟ้าแบบฟิวล์เซลล์ (FC-EV - Fuel Cell Electric Vehicle) ซึ่งใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็น “เชื้อเพลิง” เข้ามาทำปฏิกิริยาเกิดไฟฟ้าไปจ่ายให้มอเตอร์ใช้ขับเคลื่อนรถ โดยมีน้ำเป็นผลพลอยได้

ที่รถไฟฟ้ากำลังมาแรงขายแข่งกับรถยนต์ใหม่ได้ก็ด้วยพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากของแบตเตอรี ประกอบกับความตื่นตัวและพันธกรณีเรื่องโลกร้อนที่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือแม้แต่เป้าหมายลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า โดยเฉพาะการลดภาษีเพื่อจูงใจผู้บริโภค

สำหรับผู้บริโภค EV เหนือกว่ารถยนต์ (ICE) เพราะเร่งได้ดี เงียบ ไม่สะเทือน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ B-EV ด้อยกว่าตรงที่ใช้เวลาชาร์จนานกว่าเวลาเติมน้ำมันมาก และวิ่งได้ไม่ไกลเท่า ในขณะที่ FC-EV ไม่มีจุดอ่อนนี้

B-EV ใช้เวลาชาร์จปกติ 8 ชั่วโมง แม้ชาร์จแบบเร็ว 20 นาทีก็ยังนานเทียบกับ 3 นาทีของการเติมไฮโดรเจนใน FC-EV ซึ่งพอๆ กับเติมน้ำมัน แถม FC-EV ยังวิ่งได้ไกลกว่า ทั้งนี้ ระบบรถให้ชาร์จแบบเร็วได้ไม่เกิน 80% เพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรีเสื่อมเร็ว แต่ B-EV อุปกรณ์เล็กกว่า FC-EV จะมีพื้นที่ใช้งานมากกว่าสำหรับตัวถังที่เท่ากัน

แต่ FC-EV มีข้อจำกัดที่อาจจะหาสถานีไฮโดรเจนเติมยากหรือไม่ได้เลย อย่างเช่นในไทย ขณะที่บ้านเรามีไฟฟ้าใช้อย่างกว้างขวาง B-EV จะเสียบที่บ้านก็คงจะได้ เพียงแต่ถ้าวิ่งไกล (หรือวิ่งนาน) ก็ต้องหาที่เสียบบ่อยและรอเวลาในการชาร์จด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายในการวิ่งขึ้นอยู่กับว่าอัตราค่าไฟฟ้าจะแพงหรือถูกกว่าน้ำมัน (หรือก๊าซ) หรือไฮโดรเจนซึ่งบ้านเราไม่มี ก็ขึ้นอยู่กับราคาเนื้อน้ำมันและนโยบายภาษีของรัฐต่อทางเลือกทั้งสอง

เหตุผลที่รัฐจะส่งเสริม EV น่าจะเป็นการลดมลภาวะต่างๆ รวมทั้ง CO2 แต่หากไฟฟ้าในระบบที่เสียบชาร์จส่วนใหญ่ยังมาจากฟอสซิล (85% ในประเทศไทย) การใช้ B-EV ก็ไม่ได้ช่วยลด CO2 ทำนองเดียวกันการผลิตไฮโดรเจน หากมาจากก๊าซธรรมชาติก็ต้องปล่อย CO2 แต่ถ้าแยกมาจากน้ำก็ (อาจ) ต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบเช่นกัน

ว่ากันว่า แม้ทั้งคู่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยปล่อย CO2 น้อยมาก B-EV เป็นการใช้ไฟที่ค่อนข้างตรง แต่ FC-EV มีต้นทุนในการเปลี่ยนน้ำเป็นไฮโดรเจน เก็บแล้วขนส่งไปยังจุดเติมเพื่อใส่รถไปผลิตไฟฟ้า B-EV จึงน่าจะประสิทธิภาพดีกว่า

แต่ข้อดีของระบบ FC-EV ก็คือ สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลมที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ และอาจเหลือใช้ในบางช่วงของวันที่การใช้ไฟฟ้าต่ำ (off-peak) แทนที่จะหยุดผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ก็สามารถผลิตและเก็บไว้ในรูปของไฮโดรเจนได้ แล้วก็มาใช้ใน FC-EV หรือใช้ผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบก็ได้

หากแบตเตอรีพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน ก็สามารถเก็บในแบตเตอรีได้ สักวันหนึ่งอาจจะถูกกว่าการเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจน คำตอบจึงขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของแบตเตอรีด้วย จึงไม่แปลกที่ Tesla มีการผลิตและพัฒนาแบตเตอรีของตัวเอง แถมยังขายแบตเตอรีสำหรับเก็บไฟฟ้าที่บ้านด้วยหากคุณมีแผงโซลาหรือกังหันลมที่ผลิตไฟฟ้าแล้วเหลือใช้

แม้ Tesla จะมาแรงอาจจะแรงกว่า Toyota Mirai ซึ่งเป็น FC-EV ชนิดแรกที่เพิ่งออกสู่ตลาดมวลชน (Toyota ขาย B-EV ด้วย) แต่ก็ยังมีการลงทุนพัฒนา FC-EV และเศรษฐกิจไฮโดรเจนในประเทศที่น่าสนใจมากเช่น เยอรมันซึ่งเป็นผู้ช่ำชองการพัฒนาเทคโนโลยีหลายด้าน เขามีแผนพัฒนาให้มีปั๊มไฮโดรเจนถึง 400 แห่งภายในปี 2023 ซึ่งจะทำให้ FC-EV คุ้มค่าเชิงพาณิชย์

ตอนนี้รัฐบาลเยอรมันอุดหนุนราคาไฮโดรเจนที่ขายผ่านปั๊มเพื่อให้ผู้ใช้ FC-EV ไม่ต้องจ่ายแพงกว่าการใช้รถยนต์ระบบสันดาปภายใน ทั้งนี้เยอรมันยังได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก EU ด้วยเพราะถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง โครงการร่วมมือนี้กำลังพัฒนาในญี่ปุ่น สหรัฐ อังกฤษ สวิส เดนมาร์ก และฝรั่งเศส

ปัจจุบันยังฟันธงยากว่าระหว่าง B-EV กับ FC-EV อะไรจะชนะอนาคตอาจมีทั้ง 2 แบบก็ได้แม้โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ FC-EV จะลงทุนสูงแต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยก็เคยพัฒนา NGV มาแล้ว

รัฐบาลจึงไม่ควรตื่นเต้นอย่างผู้บริโภค งบประมาณรัฐยังขาดดุล จะลดภาษีอะไรแค่ไหนก็ควรพิจารณาภาพรวมว่าจะได้ประโยชน์แท้จริงแค่ไหนหากลดภาษีจูงใจการใช้มากๆ อาจทำให้กำลังผลิตในระบบไม่เพียงพอเพราะโรงไฟฟ้าหลายแห่งถูกต่อต้านจนสร้างไม่ได้ จะทดแทนด้วยอะไร?

ที่สำคัญ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเร็วมากพอไหม?

----------------------

อานิก อัมระนันทน์