ญี่ปุ่นกระตุ้นขนาดนี้ ลงทุนเลยดีหรือไม่?

ญี่ปุ่นกระตุ้นขนาดนี้ ลงทุนเลยดีหรือไม่?

ญี่ปุ่นกระตุ้นขนาดนี้ ลงทุนเลยดีหรือไม่?

สวัสดีเดือนสิงหาคมครับ หลังจากเมื่อต้นปีก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ สร้างความประหลาดใจให้ตลาดด้วยการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายจนอยู่ในแดนลบ เร็วๆ นี้รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ทำเรื่องน่าประหลาดใจอีกครั้งด้วยการออกมาประกาศนโยบายกระตุ้นทางการคลังด้วยวงเงินกว่า 28.1 ล้านล้านเยน หลัง BOJ ตัดสินใจไม่เพิ่ม QE ไม่ลดดอกเบี้ย แต่จะอัดเม็ดเงินกระตุ้นตลาดทุนเพิ่มด้วยการซื้อ ETF ในวงเงินที่สูงขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 3.3 เป็น 6 ล้านล้านเยนต่อปี

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเมื่อญี่ปุ่นตัดสินใจกระตุ้นเพิ่มขนาดนี้ แล้วตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มกลับมาน่าสนใจหรือไม่?

แม้ว่าราคาหุ้นญี่ปุ่นนับแต่ต้นปีจะย่อตัวลงมากว่า 10% และ BOJ ก็ได้พยายามรักษาเสถียรภาพของตลาดเท่าที่จะทำได้แล้วก็ตาม แต่ถ้าจะให้ตอบคำถามนี้ในมุมมองส่วนตัวแล้ว ผมยังมองว่า โดยพื้นฐานตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังไม่ได้น่าสนใจอะไรมากนัก

แล้วทำไมถึงยังไม่น่าสนใจ? ซึ่งเหตุผลตรงนี้ เราลองกลับมาพูดถึงธุรกิจในตลาดหุ้นญี่ปุ่นกันก่อนดีกว่าครับ ผมเชื่อว่า ถ้าพูดถึงบริษัทในดัชนี NIKKEI 225 ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อย่าง UNIQLO, Toyata, Honda, ANA, Casio, Canon ฯลฯ แล้วละก็ หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้มีรายได้จากในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มาจากอีกหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อ 2-3 ปีก่อน การแทรกแซงตลาดของ BOJ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงิน QE ปริมาณมหาศาลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจนทำให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างรวดเร็วนั้นจะทำให้บริษัททั้งหลายที่ขายของเป็นสกุลเงินต่างชาติได้ประโยชน์ในการเพิ่มยอดขายและกำไรสุทธิจากราคาสินค้าในสายตาลูกค้าต่างชาตินั้นดูเหมือนจะ ลดแลกแจกแถม โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องทำโปรโมชั่น ดั้งนั้นประโยชน์ที่เอกชนญี่ปุ่นได้จากเงินเยนที่ถูกลงด้วยนโยบาย QE ในช่วงเวลานั้นจึงช่วยผลักดันราคาหุ้นในตลาดได้เป็นอย่างดี

แต่ในวันนี้มันต่างออกไป ผมมองว่าเราคงไม่ได้เห็นภาพแบบนั้นได้ง่ายๆ เหมือนเดิมแล้ว เพราะด้วยภาระหนี้สินที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีอยู่ในขณะนี้ การที่ BOJ จะทำ QE ด้วยวงเงินที่เพิ่มขึ้นจากระดับที่ทำอยู่ในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับหรือจะให้หวังนโยบายทางการคลังอย่างการลงทุนของภาครัฐเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินั้นก็ดูจะเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน เพราะพื้นฐานไม่ได้เอื้ออำนวยทั้งเรื่องโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเยอะ หรือจะเป็นรายได้ของประชากรในระดับสูงซึ่งทำให้เติบโตได้ยาก ที่เห็นชัดๆ ในการกระตุ้นครั้งนี้คงจะมีแต่เม็ดเงินที่ BOJ จัดสรรเพื่อซื้อ ETF หุ้นญี่ปุ่นในวงเงินที่สูงขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 3.3 เป็น 6 ล้านล้านเยนต่อปี เท่านั้นที่ดูยังเป็นความหวังในการผลักดันดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้าง ซึ่งเราคงจะคาดหวังได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น และไม่ใช่ปริมาณที่เยอะเลยหากถ้าเทียบแล้ว เม็ดเงิน 6 ล้านล้านเยน นั้นยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดเลยครับ

โชคดีที่ว่าในมุมของมูลค่าตลาดญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับประมาณค่าเฉลี่ยระยะยาว แม้จะไม่ใช่เกณฑ์ที่น่าสนใจอะไรมาก แต่ก็ไม่ถึงกับแพงเกินไปโอกาสที่ตลาดจะปรับตัวขึ้นในระยะสั้นจากเม็ดเงิน ETF จึงยังมี แต่ด้วยพื้นฐานที่ยังไม่สนับสนุน ราคาหุ้นจึง

ไม่น่าจะปรับตัวขึ้นได้มาก หรือถ้าปรับขึ้นได้ผมว่ายังห่างไกลจากคำว่ายั่งยืน ดังนั้นคำแนะนำนักลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นจึงควรระมัดระวังกันด้วย ส่วนนักลงทุนที่มีหุ้นญี่ปุ่นอยู่ในมืออยู่แล้ว แนะนำรอจังหวะที่ตลาดปรับตัวขึ้น แล้วค่อยๆ ทยอยขายลดสัดส่วนลง แล้วย้ายไปทยอยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานที่ดีกว่านั้น เช่น กองทุนที่ลงทุนในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) กองทุนหุ้นจีนหรือ กองทุนหุ้นอินเดีย ที่ยังมีพื้นฐานสนับสนุนให้เติบโตในระยะยาวได้จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากข้อคิดสักข้อนะครับ “Investing is not gambling”การลงทุนไม่ใช่การพนันนะครับ เราลงทุนเพราะเชื่อว่าโอกาสกำไรมีมากกว่าและคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เราก็ไม่ควรละเลยที่จะสังเกตและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม สำหรับเดือนนี้ผมว่าเราคงต้องลากันไปก่อนนะครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้า ขอโชคดีในการลงทุนครับ