ชัยชนะของ Uber China

ชัยชนะของ Uber China

ดูชื่อหัวข้อวันนี้อาจมีคนสงสัยว่าผมตกข่าวหรือเปล่า? ก็ข่าวดังทั่วโลกในวงการธุรกิจ start-up เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เป็นเรื่อง "ความล้มเหลวของ Uber China" บริษัทเรียกแท็กซี่ด้วย app มือถือจากอเมริกา ซึ่งได้ยกธงขาวถอยทัพออกจากตลาดจีนเรียบร้อยแล้วด้วยการประกาศรวมกิจการ Uber China เข้ากับบริษัทแท็กซี่จีนคู่แข่งอย่าง DidiChuxing

แล้วผมดันมาพูดเรื่อง "ชัยชนะของ Uber China" ได้อย่างไร?

ถ้าเราเข้าใจว่า “ชัยชนะ” หมายถึงต้องล้มบริษัทจีนคู่แข่งลงโดยสิ้นเชิงการถอยของ Uber China ก็คงเป็นความล้มเหลวเหมือนเป็นการยอมแพ้แต่ถ้ามองว่านี่เป็นกลยุทธ์ซุนวูถอยเพื่อรุก ถอยก่อนแพ้ ถอยแบบยังได้กำไรก็ต้องนับว่านี่เป็น "ชัยชนะของ Uber China" ครับ

Uber China ขายกิจการโดยขอแลกเป็นหุ้น 20% ในคู่แข่ง DidiChuxing (ซึ่งบัดนี้ได้กลืน Uber China เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทตัวเอง) ที่ผ่านมา Uber บริษัทแม่ทุ่มเงินในตลาดจีนไปมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในวันนี้หุ้น 20% ใน DidiChuxing ที่ Uber ได้มาคิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ กำไรเห็นๆ กว่า 5,000 ล้าน!!

การตัดกิจการในจีนซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในแต่ละปีออกไป ยังช่วยให้ Uber บริษัทแม่มีตัวเลขการเงินที่ดีขึ้น ส่งผลดีหาก Uber คิดจะทำ IPO ในอนาคต นอกจากนั้น Uber สามารถนำเม็ดเงินที่เคยต้องใช้ลงทุนในจีน มาทุ่มให้กับตลาดในประเทศอื่น ซึ่ง Uber อาจยังมีโอกาสชนะ รวมทั้งขยายกิจการใหม่ๆ ที่ต่อยอดจากเดิมของ Uber เช่น กิจการส่งอาหาร (UberEats) ส่งสินค้าในเวลารวดเร็ว (UberRush)

จริงๆ แล้ว Uber China นับว่าเป็นบริษัทต่างชาติที่รุกเข้าจีนอย่างมีชั้นเชิงพอสมควร โดยได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตของบริษัทต่างชาติอย่าง Ebay ที่พ่ายแพ้หมดรูปให้กับ Alibaba

ตั้งแต่เริ่มแรก Uber ศึกษาและวางแผนการเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นระบบ Uber สร้างทีมจีนที่เป็นเอกเทศมีความแข็งแกร่ง และมีความคล่องตัวในการบริหารงานและตัดสินใจในจีน นอกจากนั้น Uber ยังหาพันธมิตรที่ทรงอิทธิพลในจีนร่วมหัวจมท้ายด้วยโดย Uber China มีบริษัท search engine ที่ใหญ่สุดในจีนอย่าง Baidu ร่วมลงทุนและได้ใช้ระบบแผนที่ของ Baidu สำหรับ app Uber ในจีน รวมทั้งอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ของ Baidu ในการเจรจาและเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐบาลอีกด้วย

แม้จะวางแผนและบริหารจัดการเป็นอย่างดีในจีน แต่ Uber China ดันมาเจอบริษัทคู่แข่งที่ทำได้เหนือกว่า!

โมเดลธุรกิจของบริษัทเรียกแท็กซี่จาก app มือถือ คือ การทุ่มเงินมหาศาลมากลบต้นทุน เพื่อตัดราคาให้ถูกที่สุด เพื่อครองส่วนแบ่งในตลาดให้ได้ก่อน แล้วค่อยทำกำไรทีหลัง ดังนั้น จะเล่นเกมนี้ได้ ต้องเงินหนา

ตอนเริ่มต้น ผู้เล่นในธุรกิจนี้ในจีนมีสามราย ได้แก่ Uber China, DidiChuxing และ Kuaidi ซึ่งต่างมีกระสุนเงินพร้อมรบทั้งสามรายโดย Tencent (เจ้าของ wechat) เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของ DidiChuxing ขณะที่ Alibaba ยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของจีนลงทุนใน Kuaidi และ Baidu เจ้าพ่อ search engine ของจีน ร่วมลงทุนใน Uber China

เมื่อปีที่แล้ว DidiChuxing ได้กลืนคู่แข่งอีกรายอย่าง Kuaidi รวมเข้ากับตัวเอง ทำให้ DidiChuxing มีส่วนแบ่งการตลาดในจีนถึง 80% ในทันที และยังมียักษ์ใหญ่ทั้ง Tencent และ Alibaba หนุนหลัง (รวมทั้ง Apple ของสหรัฐ ร่วมลงขันด้วยอีก 1,300 ล้านดอลลาร์ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา) ดังนั้น DidiChuxing จึงพร้อมอัดฉีดเงินเต็มที่เพื่อคว่ำ Uber China ให้ได้

นอกจากเรื่องเงินทุนที่หนามากแล้ว DidiChuxing ยังได้เปรียบ Uber China เพราะ DidiChuxing เป็นผู้เล่นคนแรกในตลาด (มี first-mover advantage) จึงเข้ายึดหัวหาดได้ก่อนในหลายเมือง แล้วไม่ว่าอย่างไร การบริหารโดย “ตัวแทนของบริษัทแม่” ก็ย่อมสู้การบริหารโดย “เจ้าของ” เองไม่ได้ เพราะเจ้าของย่อมทุ่มสุดตัวพร้อมตัดสินใจ และพร้อมเสี่ยงมากกว่า DidiChuxing นำทัพโดยตัวเจ้าของชาวจีนเองและก็รบในสนามเดียวคือเมืองจีน ขณะที่ Uber บริษัทแม่ต้องบริหารทรัพยากรเพื่อขยายกิจการในหลายประเทศทั่วโลกพร้อมกัน

ดังนั้น แม้ว่า Uber China จะทำทุกอย่างได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ก็แทบมองไม่เห็นหนทางที่จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง ล้มคู่แข่ง ยึดส่วนแบ่งตลาด และเริ่มทำกำไรได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะเอาเม็ดเงินหลับหูหลับตาทุ่มเข้าไปเรื่อยๆ ก็สู้ถอยทัพขอแลกกับหุ้นในคู่แข่งดีกว่า วิธีถอยแบบนี้ Uber ไม่ใช่เจ้าแรกนะครับ เมื่อกลางปี Walmart China ก็ขายเว็บ E-Commerce ในจีนของตนให้กับคู่แข่งจีน JD.COM เพื่อแลกกับหุ้น 5% ใน JD.COM เช่นกัน

ผมจึงมองว่า Uber China ได้เปลี่ยนจากที่กำลังจะ “แพ้” หมดรูป เป็นคว้าชัย “ชนะ” แบบได้กำไรกลับไป ส่วน DidiChuxing นั้นเรียกได้ว่าชนะขาด กลายเป็นผู้เล่นที่เหลืออยู่เจ้าเดียวในตลาด App เรียกรถของจีน (ประเมินมูลค่ากิจการของ DidiChuxing ในตอนนี้อยู่ที่ 46,000 ล้านดอลลาร์ เลยทีเดียว)

ว่าแต่ผลสุดท้ายในเกมครั้งนี้ มีแต่ win-win จริงหรือเปล่า? มีใครเป็นผู้แพ้บ้างหรือไม่?

คนแรกที่แพ้ก็คือ ผู้บริโภคครับ ในจีนมีนักกฎหมายเริ่มตั้งคำถามว่าการควบรวมกิจการในครั้งนี้ทำได้หรือไม่ เพราะอาจขัดกับกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันในตลาด (แต่นักกฎหมายจีนส่วนหนึ่งมองว่าไม่มีปัญหา เพราะควรตีความ “ตลาด” ในที่นี้ว่าเป็นตลาดแท็กซี่ ซึ่งยังมีบริษัทแท็กซี่ธรรมดาเหลืออยู่ ไม่ใช่ตลาด app แท็กซี่ ซึ่งจะเหลือผู้เล่นใหญ่เพียงเจ้าเดียว) เรื่องนี้ปล่อยให้นักกฎหมายและศาลจีนถกเถียงกันต่อไปนะครับ แต่ผลที่เห็นแน่ๆ ก็คือ ผู้เล่นที่เหลือรายเดียวไม่ต้องตัดราคาแข่งกับใครอีกต่อไป ตอนนี้ก็ค่อยๆ ขึ้นราคามาเท่าทุน และเริ่มโกยกำไร รวมทั้งไม่ต้องแข่งกันแบ่งผลตอบแทนที่ดีแก่คนขับด้วย

คนแพ้อีกคน ก็คือ นักลงทุนใน Uber บริษัทแม่ ตอนนี้เริ่มมีคนตั้งคำถามว่า กลุ่มทุนที่ลงขันเงินให้ Uber เอาเงินมาหว่านไปทั่วโลกนั้น จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าหรือไม่ ถ้าเลือกทำอย่าง Apple ที่ทุ่มเงินให้ยักษ์ใหญ่ในพื้นที่อย่าง DidiChuxing โดยตรง

ข้อสังเกตสุดท้าย การลงทุนและควบรวมกิจการของบริษัทเหล่านี้ เริ่มทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทดูน่า “ปวดหัว” เมื่อปีที่แล้ว DidiChuxing ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้นใน Lyft ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Uber ในสหรัฐ (แต่ตอนนี้ Uber เข้ามาถือหุ้น DidiChuxing อยู่ 5%) ส่วน DidiChuxing เดิมก็เป็นพันธมิตรเชื่อมต่อ app ของตนกับคู่แข่งของ Uber ทั่วโลก (Ola ในอินเดีย, Grab ในอาเซียน)

จึงต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร