จับตา 10 กระแสเศรษฐกิจเมียนมา(1)

จับตา 10 กระแสเศรษฐกิจเมียนมา(1)

“เมียนมา” ในยุคหลังการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ เริ่มมีการเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ

ทำให้เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น และด้วยความที่เป็นตลาดใหม่ที่ผู้บริโภคยังไม่มีแบรนด์ในใจและเปิดกว้างต่อสินค้าและบริการ เวลานี้จึงนับเป็นโอกาสทองสำหรับแบรนด์ต่างๆในการบุกตลาดเมียนมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

จากผลการสำรวจของ BrandZ ในเมียนมา ที่สัมภาษณ์ผู้บริโภค 1,660 คนครอบคลุม 42 แบรนด์หลัก ทั้งแบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์ท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักดีในเมียนมา ซึ่งจัดทำโดย Millward Brown และ WPP ที่ทำการศึกษาความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์สินค้านั้นพบว่า

Apple คือแบรนด์ที่มีความแตกต่างที่สุด ตามมาด้วย Coca-Cola และ Samsung

Telenor ได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์เครือข่ายมือถือที่นวัตกรรมโดดเด่น ตามมาด้วยแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง MPT และ Ooredoo

MPT เป็นแบรนด์ที่คนพม่ารักมากที่สุดในการสำรวจนี้ โดยมีคะแนนนำ Samsung, Telenor และ Huawei

Samsung ครองตำแหน่งแบรนด์ที่ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด รองมาคือ Apple และ MPT

Huawei ถูกเลือกให้เป็นพาวเวอร์แบรนด์ หรือแบรนด์ที่สามารถเพิ่มยอดขายหรือดึงส่วนแบ่งการตลาด โดยผู้บริโภคมีใจโอนเอียงที่จะเลือกใช้แบรนด์นี้มากกว่าแบรนด์อื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้แบรนด์เกิดความเข้าใจในตัวผู้บริโภค สภาพสังคมและเศรษฐกิจเมียนมาให้มากขึ้นก่อนจะเข้าสู่ตลาดวันนี้ จึงขอหยิบบทวิเคราะห์จาก BrandZ Thought Leadership Series ซึ่งมีการนำเสนอประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง 10 ข้อต่อไปนี้

1.ยุคต่อไปคือยุคของชนชั้นกลาง 

    ปัจจุบันรายได้ของคนเมียนมา นั้นค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานโลกหรือแม้แต่กับประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันเอง เพราะรายได้ของคนส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้ หากการปฏิรูปเศรษฐกิจรวมไปถึงการเข้ามาของนักลงทุนและความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในไม่ช้าแรงงานเมียนมา จะเข้าสู่อุตสาหกรรมการบริการและการผลิต ซึ่งส่งผลให้คนเมียนมา มีรายได้เพิ่มมากขึ้น คนเริ่มเปลี่ยนสถานะเป็นคนชนชั้นกลาง 

คาดการณ์ปี 2020 จะมีประชากรชนชั้นกลางกว่า 10 ล้านคน หรือ 15% ของประชากรทั้งหมด คนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้บริโภคหลักของร้านอาหาร แฟชั่นแบรนด์ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องใช้ในบ้าน แม้กระทั่งรถยนต์และการท่องเที่ยว แบรนด์ควรฉวยโอกาสตอนนี้ในการเข้ายึดพื้นที่ในใจผู้บริโภค ไม่เฉพาะแค่กับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอยู่แล้ว แต่ต้องรวมไปถึงผู้บริโภคในอนาคตด้วย

2.เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าเดิม

      จีนที่เราว่าเปลี่ยนแปลงเร็วแล้ว เมียนมาจะเป็นตลาดที่เปลี่ยนเร็วยิ่งกว่าเป็นประวัติการณ์ เมื่อครั้งจีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เริ่มเปิดประเทศ อินเทอร์เน็ตและมือถือยังเป็นเรื่องของอนาคต 

แต่สำหรับเมียนมานั้นดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงและจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศตั้งแต่เริ่มต้น จากการค้าปลีกไปสู่การเงินการธนาคาร และจะเป็นไปในลักษณะก้าวกระโดดในขณะที่ตลาดอื่นๆ อาจใช้เวลาเป็นปีในการพัฒนา

3.โครงสร้างพื้นฐานอาจยังด้อย 

    แต่จะเปลี่ยนไปในไม่ช้า แม้ในหลายหมู่บ้านยังไม่มีถนนตัดผ่าน และ 20% ของประชากรยังจุดเทียนเพื่อให้ความสว่าง ระบบคมนาคมรถไฟยังมีความเชื่องช้าและการไม่มี Wi-Fi ตามบ้านจะยังคงเป็นเรื่องที่พบเจอได้ในปัจจุบัน แต่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการลงทุนจากต่างชาติและความช่วยเหลือจากนานาประเทศล้วนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น 

แม้ทุกวันนี้ปัญหาการดำเนินธุรกิจในเมียนมาจะยังคงมีอยู่ แต่ถ้ามองย้อนกลับไป 3 ปีที่แล้วแทบจะไม่มีใครมีโทรศัพท์มือถือในครอบครอง แต่ขณะนี้กว่า 50% ของประชากรมีมือถือใช้กันแล้ว หรือเมื่อ 2 ปีก่อน หากชาวต่างชาติมาติดต่อธุรกิจที่เมียนมา จะไม่สามารถใช้สัญญาณโรมมิ่งได้ แต่ขณะนี้ก็มีให้ใช้กันทั่วถึงแล้ว

4.ยุคบุกเบิกของห้างสรรพสินค้า

     เพราะข้อจำกัดด้านการไฟฟ้าและการเดินทางคือสองปัจจัยหลักที่ทำให้การเกิดห้างสรรพสินค้าเป็นไปได้ยาก ร้านขายของชำที่จำหน่ายโดยคนในหมู่บ้านที่ผุดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมืองยังคงเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าหลักของคนเมียนมา ที่มักจะเลือกมาจับจ่ายยังร้านของชำใกล้บ้านเพราะความสะดวกสบาย 

อย่างไรก็ตามแบรนด์ไม่ควรข้ามความสำคัญของร้านเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้จำหน่ายสินค้าแต่ยังเป็นแหล่งข้อมูลหลักของสินค้าและแบรนด์อีกด้วย แม้ปัจจุบันมีซูเปอร์มาร์เก็ตให้เห็นอยู่บ้างตามเมืองใหญ่ๆ แต่ในชนบทนั้นกลับไม่มีเลย และสินค้าที่ขายก็เป็นสินค้าที่ติดตราสินค้าเป็นภาษาไทยหรือภาษาเวียดนาม ซึ่งทำให้คนท้องถิ่นเข้าถึงได้ยาก

5.เข้าถึงผู้บริโภคด้วยสื่อทีวีเป็นหลัก แต่ต้องไม่ทิ้งดิจิทัล 

    การสื่อสารแบรนด์เป็นเรื่องของการได้เห็นมากและ “ทีวี” เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้เป็นอย่างดี “บิลบอร์ด” ก็เป็นอีกสื่อที่ช่วยทำตลาด เน้นเรื่องการมองเห็นและความเด่นเป็นสำคัญ ในตลาดที่การแข่งขันไม่สูงนัก แบรนด์อาจไม่ต้องห่วงว่าจะต้องทำให้แบรนด์ตนเองแตกต่างจากคู่แข่งเท่าไร หรือแม้การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความภักดีก็ไม่ได้รุนแรงนัก 

ดังนั้นเรื่องของการได้เห็นจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้แบรนด์ไปอยู่ในใจผู้บริโภค ทีวีเป็นหัวใจของสื่อ แต่ในขณะที่จำนวนสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในปีที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากได้สัมผัสกับอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ผู้บริโภคใช้อินเทอร์เน็ตหาข้อมูลและสร้างความบันเทิง แบรนด์ควรเริ่มที่จะวางแผนการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลและไม่ใช่แค่ ‘mobile first’ แต่ต้องเป็น ‘mobile only’

มาติดตามอีก 5 ประเด็น ในครั้งต่อไปหน้าค่ะ