“อธิปไตยพลังงาน” ..วาทกรรมไร้ความหมาย (จบ)

“อธิปไตยพลังงาน” ..วาทกรรมไร้ความหมาย (จบ)

จากตอนแรก ที่ได้กล่าวถึงวาทะกรรม เรื่องอธิปไตยพลังงาน จะขอขยายความต่อว่า

กลับมาเรื่อง “อธิปไตยพลังงาน” นะครับ ที่ออกมาตะโกนก้องว่า “เราจะต้องเสียอธิปไตยพลังงาน” ถ้าไม่ทำตามที่พวกท่านเรียกร้อง คือ ถ้าไม่ยึดแหล่งพลังงานมาทำเอง ถ้าไม่ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาเป็นเจ้าของและบริหารควบคุม (แล้วตั้งพวกท่านเข้าไปบริหารบรรษัทอีกทีนึง) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบจากที่เคยให้สัมปทานเอกชนไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือว่าจ้างผลิตก็จะถือว่ายกทรัพยากรให้เอกชน ให้ต่างชาติ

เพราะว่าน้ำมันจะเป็นของเขา รัฐจะนั่งรอให้เขาเอาไปขายแล้วรอแบ่งเงินค่าภาคหลวงค่าภาษี ไม่ได้มีอำนาจที่จะขนเอาน้ำมันมาเข้าคลัง มาจัดการขายเองเอาเงินเอง (ทำยังกะว่ารัฐทำเป็น ทำเก่ง) ..หรือกระทั่งบางคนถึงกับกล่าวหาว่า ที่เราใช้ระบบสัมปทานให้เอกชนขุดหาแหล่งพลังงานโดยรัฐเก็บค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ เป็นตัวเงินในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมานั้น เป็นการที่เราไม่มีอธิปไตยทางพลังงานตลอดมา พอสัมปทานจะครบอายุจึงเป็นเวลาที่จะต้องเอา “อธิปไตยพลังงาน” ที่สูญเสียไปนาน กลับคืนมาเสียที โดยการจัดตั้งบรรษัทที่ว่าและเปลี่ยนระบบมาเป็นแบบที่เขาเรียกร้อง

ผมขอบอกเลยว่า ไม่ว่าจะมีบรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% ลงทุนเอง เสี่ยงเอง บริหารเอง หรือมีรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นแค่ครึ่งเดียว หรือจะให้เอกชนแข่งขันกันทำทั้ง 100% (เหมือนพวกประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกแห่ง) ไม่ว่าจะใช้ระบบสัมปทาน (Concession) ไม่ว่าจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (Product Sharing) หรือจะว่าจ้างผลิต จะเป็นแบบไหนระบบใด ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ อธิปไตยหรือ อำนาจอธิปไตย” (Sovereignty) ใดๆ ทั้งสิ้น ประเทศไทย รัฐบาลไทย ศาลไทย รัฐสภาไทย จะยังคงมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทยตลอดไป

เรายังสามารถออกกฎหมายบังคับใช้กับทุกๆ คนที่ประกอบกิจการในเขตดินแดนไทยได้ทุกอย่าง จะออกกฎหมายยึดคืนในรูปแบบต่างๆ ก็ยังได้เลย (เหมือนอย่างเวเนซูเอล่า ประเทศที่เคยเป็นแม่แบบของเหล่านักทวงคืนเคยทำไงครับ แต่เดี๋ยวนี้ประเทศเวเนซุเอล่าเละตุ้มเป๊ะไปแล้ว พวกท่านก็เลยแกล้งลืมไม่พูดถึงอีก) แต่อย่างที่ว่าแหละครับ ทำไปก็ต้องรับผลกระทบที่ตามมาด้วย

เรื่องของทรัพยากรธรรมชาตินั้น ทั้งตามกฎหมายไทย กฎหมายสากลส่วนใหญ่นั้นก็เหมือนๆ กัน คือเป็นสมบัติของรัฐของส่วนรวม แม้อยู่ใต้ที่ดินเรายังไม่ใช่ของเราเลย แต่การที่จัดสรรแบ่งให้เอกชนทำ จะเป็นชาวไทยหรือต่างชาตินั้นก็เพราะเพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีเทคโนโลยี รวมทั้งประหยัดทรัพยากรภาครัฐไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นกว่า และที่สำคัญรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงในกิจกรรมที่รู้ชัดๆ ว่ามีความเสี่ยงสูง จะใช้ระบบใดก็ยังถือว่าทรัพยากรนั้นเป็นของรัฐ ..อย่างน้ำมันนั้น ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น ยามขาดแคลนจัด หรือยามสงคราม รัฐสามารถบังคับให้เอกชนต้องตั้งสำรองเพิ่ม หรือแม้จะให้ส่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดให้รัฐเลยก็ยังทำได้ (ถ้ามีการชดเชยตามสมควร ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติยอมรับได้ด้วยซ้ำ) ทำอะไรอย่างไรก็ไม่เสียอธิปไตยใดๆ ทั้งสิ้น

จะว่าไป การที่ศาลปกครองสูงสุดออกมาพิพากษาให้ ปตท.ต้องคืนท่อก๊าซบนที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจรัฐเวนคืนเมื่อปี 2549 นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของศาลที่ให้ยึดสมบัติที่ทั้งรัฐบาลผู้ขายหุ้น และนักลงทุนหลายแสนคนผู้ซื้อหุ้นต่างเข้าใจมาตลอดว่ามันเป็นสมบัติของ ปตท.ที่ได้แบ่งขายให้ผู้ถือหุ้นทุกคนร่วมเป็นเจ้าของไปแล้ว การที่ศาลอ้างว่าเป็นไปตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 ผมอ่าน ม.24 หลายสิบรอบก็ยังไม่สามารถเห็นด้วยกับศาลเลย

แต่เอาเถอะครับ จะถูกจะผิดอย่างไร ถึงจะไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากศาลท่านเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในเรื่องนี้ เราก็ต้องเคารพและทำตาม และก็พยายามลดผลกระทบโดยการทำให้นักลงทุนเข้าใจ (การที่ผู้บริหาร ปตท.ออกมาประกาศว่าจะเคารพการตัดสินทุกอย่างของศาลก็เป็นเรื่องถูกต้องและสมควรแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่เห็นน่าตื่นเต้นใดๆ เลย ไม่งั้นท่านก็ต้องย้ายกิจการทั้งหมดไปอยู่ประเทศอื่น แต่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ฟ้องกลับไม่ยักเคารพคำตัดสินของศาล ได้คืบจะเอาศอกเอาวา ไม่ยอมเลิก จะเอาให้ประเทศพังจนสะใจให้ได้)

ถึงตอนนี้ ผมก็ขอเรียกร้องว่า จะถกเถียงว่าจะทำอะไร อย่างไร ให้ใครทำ จะตั้งบรรษัทหรือไม่ จะใช้ระบบใดก็ขอให้ถกกันโดยเหตุโดยผล ยกข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบแต่ละระบบมาถกกัน ยกประสบการณ์ของนานาประเทศมาพิจารณา

  เลิกใช้วาทกรรมประดิษฐ์ไร้ความหมายอย่างคำว่า อธิปไตยพลังงานมาปลุกระดมผู้คนเสียทีเถิดครับ

....อย่าดูถูกประชาชนนักเลยครับ

-----------------------

บรรยง พงษ์พานิช