ถ้าผมเป็น ‘รมต.ศึกษา’

ถ้าผมเป็น ‘รมต.ศึกษา’

ผมจะไม่ใช้วิธีเพิ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องๆ แบบแยกส่วน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องนั้น

ได้บางส่วน หรือพัฒนาคนบางกลุ่มหรือบางจุด บางประเด็นเท่านั้น ผมจะต้องเปลี่ยนแปลงครู หลักสูตร วิธีการสอน การวัดผล ให้สามารถให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรมได้อย่างแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่

ผมจะมองก้าวข้ามกรอบคิดว่าการลงทุนการศึกษา คือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการใช้ระบบแพ้คัดออก มุ่งคัดเลือกพัฒนาคนเก่งส่วนน้อยไปทำงานด้านเทคนิค เพื่อรับใช้ธุรกิจในระบบตลาด ผมต้องพัฒนาทั้งคนเก่งและคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคมทุกด้าน

ผมต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่า การปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลจริงนั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิด เป้าหมาย ระบบบริหารจัดการทั้งโครงสร้าง  เรื่องสำคัญข้อแรกคือ พัฒนาครูอาจารย์ในสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพสูงขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน เพื่อจัดการศึกษาที่ทันโลกในศตวรรษที่ 21 คือครูอาจารย์ต้องรักการอ่าน การเรียนรู้เพิ่มเติม และรู้จักช่วยให้ผู้เรียนรักการอ่าน การเรียนรู้ด้วยตนเองเป็น คิดวิเคราะห์เป็นอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้วิธีที่จะเรียนรู้ต่อ และแก้ไขปัญหาได้ เลิกวิธีการสอน การเรียนวิชาสามัญแบบท่องจำเพื่อไปสอบ ที่คนเรียนจบมาแล้วยังคิดและทำอะไรไม่ค่อยเป็น

การจะปฏิรูปทั้งระบบได้ ควรจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ที่คัดสรรคนจากนักบริหารมืออาชีพและนักการศึกษา นักวิชาการที่เป็นนักปฏิรูปเพียงไม่กี่คนให้ทำงานเต็มเวลา วางแผนกำหนดนโยบาย โครงการและควบคุมกำกับดูแลแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ มีสิทธิอำนาจเหนือกว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แบบที่คณะกรรมการด้านนโยบายมีสิทธิอำนาจสูงกว่าผู้บริหารจัดการ เหตุที่ต้องปฏิรูปอย่างแตกต่างจากกระทรวงอื่น เพราะบริหารจัดการของกระทรวงศึกษามีข้อจำกัดตลอดมา และการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญระดับชี้อนาคตของประเทศ ถ้าการปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพได้ ก็จะแข่งขันพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสู้คนอื่นเขาไม่ได้

แผนพัฒนาหรือแผนปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ที่ควรระดมสมองของนักการศึกษา นักบริหารมืออาชีพ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้บริหารธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ 12 แห่ง แผนนี้ควรมียุทธศาสตร์ เป้าหมายโครงการ มาตรการ วิธีการดำเนินงานแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ใช่แค่เขียนไว้เป็นตัวหนังสือที่มีข้อความสวยงาม แต่ไม่มีผลทางปฏิบัติจริง เป้าหมายที่ต้องหาตัวชี้วัดได้คือต้องพัฒนาคนไทยส่วนใหญ่ให้เป็นพลเมืองมีคุณภาพที่คิด วิเคราะห์ ทำงานเป็น มีจิตสำนึกเรื่องตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม

ควรออก พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทำกระทรวงศึกษาส่วนกลาง ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรถึงราว 10,000-15,000 คน ให้เล็กลง 2-3 เท่าตัว กระจายคนที่ทำงานวิชาการและธุรการส่วนกลางให้ไปทำงานในสถาบันการศึกษาโดยตรงเพิ่มขึ้น มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งงานได้ยืดหยุ่น คล่องตัวเพิ่มขึ้น เปลี่ยนแปลงบทบาทของกระทรวงศึกษาจากการเป็นผู้จัดการศึกษาเอง เป็นผู้กำกับนโยบาย ผู้สนับสนุน และผู้ประเมินผู้ประสานงาน ผู้ช่วยแก้ปัญหาพัฒนากระบวนการเรียนการสอน

ส่งเสริมพัฒนาตัวแทนภาคประชาชนและองค์กรธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการและตรวจสอบการให้บริการการศึกษาของผู้บริหาร/ครู สถานศึกษาต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น กำหนดให้สถานศึกษา ต้องประเมินตัวเองและได้รับการประเมิน เช่น ต้องทำรายงานผลคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนเผยแพร่ต่อสาธารณะ

จัดตั้งสำนักงานสถาบันเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นองค์กรมหาชนที่คัดเลือกผู้บริหารมืออาชีพผู้เข้าใจปัญหาการศึกษา จากองค์กรธุรกิจเอกชน สังคมประชา และนักวิชาการที่มีความเป็นนักบริหารด้วยเข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา เพื่อปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กร และการปฏิรูปผู้บริหาร/ครูอาจารย์ให้เป็นนักวิชาชีพชั้นสูงที่มีแรงจูงใจสูง ปฏิรูปสถาบันฝึกอบรมครูแนวใหม่ คัดคนเก่ง คนมีอุดมการณ์ตั้งใจเป็นครูสูง ทำให้ครูเป็นนักวิชาชีพชั้นสูงที่ได้รับผลตอบแทนและแรงจูงใจสูงขึ้น เทียบได้กับนักวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ฝึกอบรมครูอาจารย์ให้มีความรู้/ทักษะแนวใหม่ที่สามารถสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบรู้จักคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีคุณภาพ ปฏิรูปให้สถาบันการศึกษาเป็นองค์กรที่เรียนรู้ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระจายบุคลากรงบประมาณและสิทธิอำนาจ ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ สู่คณะกรรมการศึกษาจังหวัด และสมัชชาการศึกษาจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสถาบันการศึกษา และการโอนการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารการศึกษาในทุกระดับทุกแห่งต้องจัดให้มีภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรสังคมประชาอื่นๆ เข้ามาร่วมบริหารจัดการด้วย โดยวางกฎเกณฑ์ในการดำเนินงานให้เข้ากับสภาพปัญหาความเป็นจริงของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ โปร่งใส

กระจายอำนาจ ทรัพยาการศึกษาไปที่คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด และสมัชชาการศึกษาจังหวัดที่ประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายหลายฝ่าย ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น สภามหาวิทยาลัย หน่วยงานจัดการศึกษาระดับภาคสังคมประชา และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อทำงานปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดของตนให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สนองความต้องการของท้องถิ่นและประเทศได้มากขึ้น ตามความพร้อมศักยภาพของแต่ละจังหวัด แต่ต้องช่วยเหลือเร่งรัดให้ทุกจังหวัดสามารถทำได้ภายใน 5 ปี