ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เป็นสินค้ากลุ่มที่มีความสำคัญกับทั้งภาคอุตสาหกรรมในฐานะวัตถุดิบในการผลิต (เช่น น้ำมัน ยางธรรมชาติ เหล็ก) และสำหรับประชาชนทั่วไปในฐานะสินทรัพย์เพื่อความมั่งคั่ง (เช่น ทองคำแท่ง) ทั้งนี้ การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มจากการแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงด้วยราคาส่งมอบทันทีที่เรียกว่า Spot Price ก่อนจะเริ่มพัฒนามาเป็นการซื้อขายด้วยการตกลงทำสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายแบบกำหนดราคากันล่วงหน้า (OTC Derivatives) และพัฒนาต่อเนื่องมาจนเริ่มมีการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดอนุพันธ์ (Exchange Traded Commodity) ซึ่งกำหนดให้รับมอบส่งมอบสินค้าเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญา ซึ่งอนุพันธ์ประเภทนี้ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการและผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2015 ปริมาณการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดอนุพันธ์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 4,650 ล้านสัญญา เพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยการซื้อขายอนุพันธ์เหล่านี้ มีสินค้าอ้างอิงเป็นสินค้าเกษตร 35% พลังงาน 30% โลหะทั่วไป 28% และโลหะมีค่า 7% และปริมาณการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19% ของปริมาณการซื้อขายอนุพันธ์ในตลาดอนุพันธ์ทั่วโลก

สาเหตุที่ทำให้การซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดอนุพันธ์ทั่วโลกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นนั้น ได้แก่

• ลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระราคา – เนื่องจากผู้ซื้อและผู้ขายจะทำสัญญาผ่านสำนักหักบัญชี (Clearing House) ซึ่งจะกำหนดให้มีระบบการวางเงินหลักประกัน (Margin) และการปรับมูลค่าสัญญาให้เป็นปัจจุบัน (Mark to Market) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่คู่สัญญาจะผิดนัดชำระ และทำให้เกิดความมั่นใจในการซื้อขาย

• ความสะดวกของผู้ลงทุน สามารถทำการยกเลิกภาระผูกพันโดยการปิดสถานะได้โดยสะดวกโดยไม่ต้องรอให้สัญญาครบอายุด้วยการซื้อขายผ่านตลาดอนุพันธ์ โดยไม่ต้องไปตกลงกับคู่สัญญาเริ่มแรกเท่านั้น

• ความโปร่งใสของข้อมูลรวมถึงกระบวนการ Price Discovery ที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์จะถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางและ Real Time ทำให้มีความโปร่งใสสูงกว่าการซื้อขายแบบ OTC นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการซื้อขายได้โดยสะดวก รวมถึงจำนวนและความหลากหลายของผู้ร่วมตลาด (Market Participant) และกระบวนการซื้อขายและส่งมอบที่มีมาตรฐาน ล้วนสนับสนุน ให้เกิดกระบวนการค้นพบราคา หรือ Price Discovery

• ความมั่นใจในการซื้อขายและการได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน – ตลาดอนุพันธ์และสำนักหักบัญชีมีการกำหนดวิธีการซื้อขาย กระบวนการรับมอบส่งมอบและการชำระราคาไว้เป็นมาตรฐาน ช่วยให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ลงทุน

โดยส่วนใหญ่อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ จะกำหนดให้รับมอบส่งมอบสินค้าเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญา ซึ่งหมายความว่าผู้ขายจะต้องจัดหาสินค้าจริงมาส่งมอบให้กับผู้ซื้อที่จะต้องชำระเงินตามราคาที่เกิดขึ้นในตลาด ด้วยกระบวนการรับมอบส่งมอบเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาล่วงหน้า (Futures) และราคาส่งมอบทันที (Spot) เข้ามาใกล้เคียงกัน (Converge) และทำให้กลไกราคาทำงานได้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิงได้

ในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการและผู้ค้าใช้อนุพันธ์เหล่านี้ในตลาดอนุพันธ์เป็นทางเลือกหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ ดังจะเห็นได้จาก การที่บริษัทระดับสากลขนาดใหญ่หลายแห่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ Exchange เช่น บริษัท Dangote ที่อยู่ในทวีปแอฟริกาและมีการซื้อขายสินค้าเกษตรและกลุ่มพลังงาน บริษัท Vitol ของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็น Energy Trader ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัท Cargill ของประเทศสหรัฐฯ ที่ทำการซื้อขายสินค้าเกษตร เป็นต้น โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาบริษัท Glencore ที่มีธุรกิจหลักในการซื้อขาย Natural Resource มากกว่า 90 ประเภทได้ตัดสินใจเลือกใช้ ICE Instant Message (ICE IM) เป็นช่องทางหลักในการซื้อขายน้ำมัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและความมั่นใจของผู้ลงทุนต่อการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดอนุพันธ์

สำหรับตลาดอนุพันธ์ไทยนั้น สินค้าเหล่านี้จัดว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นพัฒนา โดย TFEX มีการซื้อขาย Gold Futures ที่อ้างอิงกับทองคำแท่งความบริสุทธ์ 96.5% และ Rubber Futures ที่อ้างอิงกับยางแผ่นรวมควันชั้น 3 โดยปริมาณการซื้อขายของสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.4% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นการซื้อขาย Gold Futures ทั้งนี้ RSS3D Futures เป็นสินค้าแรกของ TFEX ที่เริ่มพัฒนาเป็นสินค้าที่กำหนดให้มีการส่งมอบเมื่อครบอายุสัญญาฟิวเจอร์ (Physical Delivery) ซึ่ง TFEX คาดว่าจะมีการพัฒนาสินค้าประเภทที่กำหนดให้มีการส่งมอบเพิ่มเติมขึ้น เช่น TFEX Gold-D ที่กำหนดให้มีการส่งมอบทองคำเมื่อสัญญาสิ้นสุดอายุ หรืออนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าเกษตรประเภทอื่น เป็นต้น รวมทั้งยังมีแผนที่จะปรับปรุงสินค้าในปัจจุบันเพื่อเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขาย อันจะช่วยให้ราคาใน TFEX สามารถใช้เป็นราคาอ้างอิง (Reference Price) ของสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ซึ่งการพัฒนาอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรนั้น ถือปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศซึ่งนับเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก