ส่องช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ส่องช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ส่องช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ในครั้งก่อน เราได้พูดถึงเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อลดความผันผวน และได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอาจเป็นได้ทั้งการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท หรืออาจเป็นการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ ซึ่งในฉบับนี้ ดิฉันจะกล่าวถึง ช่องทางในการลงทุนใน “หลักทรัพย์ต่างประเทศ” ซึ่งสามารถทำได้ 3 ช่องทางหลัก ได้แก่

1.ลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) ถือเป็นการบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นมืออาชีพที่มีนโยบายลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินในต่างประเทศ แบ่งได้เป็น 2 แบบหลัก คือ แบบที่ บลจ.บริหารกองทุนด้วยตนเอง โดยนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ในต่างประเทศ ทั้งในหลักทรัพย์รายตัวหรือกองทุน (Fund of Funds) และ แบบที่ บลจ.ไปซื้อกองทุนหลักในต่างประเทศ (Master Fund) การบริหารจัดการขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้จัดการ Master Fund ขณะที่ผู้จัดการกองทุนในไทยจะดูแลเรื่องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งข้อดีของการลงทุนผ่าน FIF คือผู้ลงทุนรายย่อยจะมีโอกาสลงทุนต่างประเทศได้โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และมีมืออาชีพมาช่วยเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ลงทุน และบริหารจัดการลงทุนแทน นโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ ป้องกันความเสี่ยงทั้งจำนวน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ บลจ. ซึ่งอาจทำเพียงบางส่วนหรือไม่ทำก็ได้

2. ลงทุนเองผ่านตัวแทนการลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งตัวแทนการลงทุนจะขอวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ หุ้น หน่วยลงทุน ETFs ตราสารหนี้ภาคเอกชน พันธบัตรรัฐบาล และตราสารอนุพันธ์ จาก ก.ล.ต. และเปิดบัญชีการลงทุนเพื่อลูกค้า (omnibus account) ซึ่งหลังจากที่มีการทำธุรกรรมของลูกค้า ตัวแทนการลงทุนจะต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมต่อ ธปท. และเก็บข้อมูลการลงทุนรวมทั้งเอกสารหลักฐาน ไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ หากลงทุนผ่าน บล./ธ.พ. ผู้ลงทุนจะเป็นผู้ตัดสินใจในการลงทุนด้วยตัวเอง แต่หากลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล ผู้ลงทุนจะเป็นเพียงผู้ให้แนวนโยบายการลงทุน และมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ลงทุนให้ตามนโยบายที่กำหนดไว้

3. ลงทุนเองโดยตรงผ่านตัวแทนการลงทุนในต่างประเทศ เดิมจำกัดเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน แต่ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ Phrase II ของ ธปท. ในปี 2559 ได้ผ่อนคลายให้ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (Qualified Investor) ซึ่งหมายความถึง บริษัทหรือบุคคลธรรมดาที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์รวมตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภทรวมถึงเงินฝากในต่างประเทศ และอนุพันธ์ทั้งในและนอกตลาด Exchange ได้ โดยไม่ผ่านตัวกลางในประเทศ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยวงเงินการลงทุนที่ ให้ส่งเงินออกไปลงทุน (flow) ไม่เกิน USD 5 ล้าน ต่อรายต่อปี โดยให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอนุพันธ์ในประเทศสมาชิกอาเซียน

ทั้งนี้ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ทาง ธปท.ยังได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างประเทศ ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ Phrase II เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม ดังนี้

• ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้โดยเสรี โดยมียอดคงค้างไม่เกิน USD 5 ล้าน (จากเดิมไม่เกิน USD 5 แสน)

• ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศโอนเงินออกเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ได้ไม่เกินปีละ USD 50 ล้าน (จากเดิมไม่เกินปีละ USD 10 ล้าน)

นอกจากนี้ ในปี 2559 ธปท.ได้ผ่อนคลายให้ธนาคารพาณิชย์สามารถออกและเสนอขายตราสารทางการเงิน (Structured Product) ที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับ Structured product ที่ดิฉันเห็นว่า น่าสนใจในการลงทุนในช่วงที่ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนเช่นนี้ คือ Structured product ที่ธนาคารพาณิชย์ออกขายเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ อ้างอิงกับตัวแปรต่างประเทศ (เดิมที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้สามารถออกขายตราสารดังกล่าวเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น) โดยดิฉันขอยกตัวอย่างเพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย ดังนี้

ตัวอย่าง ผู้ลงทุนมีเงินสกุลบาท และต้องการซื้อ Structured Product ที่ให้สิทธิรับเงินคืนเป็นเงินสกุล USD
> ณ วันทำสัญญา
-ผู้ลงทุนฝากเงิน THB กับธนาคาร และขาย put option บน USD
-ผู้ลงทุนเลือก strike price ที่ 34.66 USD/THB และระยะเวลา 1 เดือน

> ณ วันครบกำหนดสัญญา
-ถ้า USD/THB มากกว่า 34.66 --> ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุน และผู้ลงทุนได้รับคืนเป็นเงินบาท ทำให้ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าการฝากเงินปกติ
-ถ้า USD/THB น้อยกว่า 34.66 --> ธนาคารจะใช้สิทธิตาม Option โดยขาย USD ให้ผู้ลงทุนที่ราคา 34.66 ที่ผู้ลงทุนเลือกไว้ ทำให้ผู้ลงทุนซื้อ USD ที่ 34.66 ตามที่ได้เลือกไว้

ดังนั้น เราจะเห็นว่า การลงทุนใน Structured Product ดังกล่าว สามารถสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ลงทุนผ่านการขาย put option ให้กับธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกเช่น Structure Product สกุลเงินบาท ที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน เช่น จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB หรือให้สิทธิลูกค้าซื้อเงินตราต่างประเทศ ได้ไม่เกิน USD 5 ล้านต่อราย (นับรวมเงินตราต่างประเทศที่ลูกค้าฝากกับธนาคารพาณิชย์แบบ ไม่มีภาระผูกพันด้วย) และการทำธุรกรรมอนุพันธ์ (Derivatives) อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เกี่ยวกับ เงินบาท (Cross Currency) เช่น อัตราแลกเปลี่ยน USD/JPY

เมื่ออธิบายมาถึงตอนท้ายนี้ ดิฉันหวังว่า ท่านที่กำลังต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนไปในต่างประเทศ จะสามารถเลือกช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีความเหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนและความเสี่ยงของท่านได้แล้วนะคะ