หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน

หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมีการเลือกตั้งและมีการ

เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การได้นายกรัฐมนตรีก็จะเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ตามมาตรา 83 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีจำนวน ส.ส. 500 คน และตามมาตรา 159 กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ

1) ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 โดยกำหนดไว้ว่า “ในการเลือกตั้งทั่วไปให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ..พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้”

ซึ่งเนื้อหาตามมาตรา 88 ส่งผลทำให้ประชาชนจะสามารถรู้ล่วงหน้าว่า พรรคการเมืองจะเสนอชื่อใครบ้างเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละพรรคสามารถเสนอได้ถึง 3 ชื่อ หรือจะไม่เสนอเลยก็ได้ ถ้าไม่เสนอก็หมายความว่า พรรคการเมืองที่ไม่เสนอก็เท่ากับสละสิทธิ์

2) หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อบุคคลตามที่ได้แจ้งไว้ แต่พรรคที่จะมีสิทธิ์นี้จะต้องมี ส.ส. ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ดังนั้น พรรคที่มี ส.ส.น้อยกว่า 25 คนก็จะไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อ ขณะที่การเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมี ส.ส.ในสภาฯรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมดด้วย ก็ประมาณ 50 คน ดังนั้น พรรคเล็กพรรคน้อยที่มี ส.ส.เกิน 25 คนแม้ว่าบุคคลในบัญชีรายชื่อที่พรรคตนเคยเสนอไว้จะมีสิทธิ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็จะต้องไปขอเสียง ส.ส. ให้รวมแล้วได้ 50 คนเพื่อรับรองให้คนในรายชื่อของตนได้ผ่านเงื่อนไขพื้นฐานนี้เพื่อไปชิงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมด ในแง่นี้ ก็จะต้องรวมตัวกับพรรคเล็กพรรคน้อยด้วยกันถึงจะผ่านเงื่อนไขพื้นฐานนี้ ส่วนพรรคใหญ่กว่าที่มีเสียง 50 คนขึ้นไป ไม่ต้องไปขอเสียงจากพรรคไหน เพราะลำพังพรรคตัวเองก็ผ่านเงื่อนไขพื้นฐานนี้ได้

3) คิดเล่นๆ ว่า ถ้าบุคคลที่จะมีสิทธิ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะต้องมีเสียงรับรอง 50 เสียง จำนวนบุคคลมากที่สุดที่จะมีสิทธิ์ชิงตำแหน่งนี้จึงมีได้ไม่เกิน 10 คน เพราะ ส.ส.ทั้งหมดมี 500 คน แต่ใน 10 คนนี้ ก็ไม่น่าจะมีคุณสมบัติและบารมีเท่ากันจนเสียงแตกไม่สามารถมีใครได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา นั่นคือ เกิน 250 แต่นั่นเป็นการสมมุติ เพราะในความเป็นจริง น่าจะมีพรรคบางพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากจนถือได้ว่าเป็นพรรคใหญ่

และสมมุติว่ามี 2 พรรคใหญ่ตามที่เคยมีมา แต่ไม่มีพรรคใดมี ส.ส.เกิน 250 ซึ่งถ้าขาดไปไม่เกิน 25 เสียง อีก 25 เสียงก็ไม่น่ายาก เพราะพรรคที่ได้ ส.ส. ต่ำกว่า 25 ก็หมดโอกาสที่จะส่งคนในรายชื่อของพรรคตนเข้าชิงชัยอยู่แล้ว แต่มีโอกาสจะไปรวมช่วยกับพรรคใหญ่เพื่อตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นได้มาก ส่วนพรรคที่ได้มากกว่า 25 แต่ไม่ถึง 50 ก็น่าจะเข้าข่ายร่วมด้วยช่วยกันกับพรรคใหญ่ได้ง่าย แต่จะเล่นตัวกว่า เพราะพรรคของตนสามารถเสนอชื่อคนของตนเข้าชิงชัย

แม้ว่าโอกาสที่พรรคใหญ่ 2 พรรคจะจูบปากจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันคงยาก ถ้าแต่ละฝ่ายยอมรับและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องไปขอเสียงวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ปลดล็อก สูตรที่เป็นไปได้ในเบื้องต้นสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลก็คือ พรรคใหญ่ๆ ต้องตามง้อพรรคขนาดกลาง-เล็กเพื่อรวมกันให้ได้เกิน 250 แต่ก็ต้องแลกกับโควตารัฐมนตรี

ถึงที่สุดแล้ว ถ้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นคือ ชื่อบุคคลตามรายชื่อที่ถูกเสนอเข้าชิงชัยไม่สามารถได้เสียงไว้วางใจเกินครึ่งของสภา เมื่อถึงทางตัน ก็ต้องหันไปอาศัยมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลมาปลดล็อก เพื่อเพิ่มตัวเลือกของคนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวไว้ว่า “ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (หรือ 300 เสียง) ให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

เมื่อปลดล็อกแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรีก็กลับไปเป็นเรื่องของ ส.ส.อีก แต่สามารถเสนอชื่อนอกรายชื่อได้ มาตรา 272 มีเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดทางตันในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้มีไว้เพื่อให้ ส.ว. มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง แต่ถ้าอยากให้ ส.ว. 250 คนมีสิทธิ์ร่วมกับ ส.ส. 500 คนเลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรงตามรายชื่อของพรรคการเมือง คำถามพ่วงก็ต้องผ่านประชามติด้วย