“อธิปไตยพลังงาน” ..วาทกรรมไร้ความหมาย (1)

“อธิปไตยพลังงาน” ..วาทกรรมไร้ความหมาย (1)

มายาคติสังคมที่คนบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้นมา ..เพื่อใคร????

ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำว่า “อธิปไตยพลังงาน” โผล่ขึ้นมามากมายบ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อหลักและสื่อ Social Media (ลองพิมพ์คำนี้แล้วเข้าไปหาใน Google ดูสิครับ ท่านหาอ่านได้เป็นสิบๆ หน้าเลยครับ)

มีใครเคยฉุกคิดโดยใช้หลัก “กาลามสูตร” ของพระพุทธองค์มาพิจารณากันดูไหมครับ ว่าคำว่า “อธิปไตยพลังงาน” นี่มันหมายถึงอะไร มีความหมายความสำคัญจริงๆ แค่ไหน หรือเพียงแค่ฟังตามๆ กันมาแล้วก็พูดตามๆ กันไป เพียงเพราะมันเป็นคำที่ฟังดูดี ดูเท่ ดูดุเดือด รักชาติ รักสังคมดี

ผมขอฟันธงก่อนเลยว่า คำ อธิปไตยพลังงานนี้ เป็นคำที่ไร้ความหมาย ไร้สาระ ..เป็น “วาทกรรมประดิษฐ์” ที่มีผู้คิดสร้างขึ้น เพื่อชักจูงให้คนเข้าใจไปในทางที่ส่งเสริมแนวคิดทางสังคมนิยมของพวกตน เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ที่มีพวกตนเข้าไปมีบทบาทบริหารควบคุม ทั้งๆ ที่แนวคิดนี้กำลังเสื่อมความนิยมลงทั่วโลก เพราะเป็นวิธีการที่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีประสิทธิภาพ ล่อแหลมต่อการทุจริต และทำให้รัฐสุ่มเสี่ยงเกินไปโดยที่ไม่จำเป็น ..ซึ่งเมื่อถกเถียงกันโดยเหตุผลแล้วไม่สำเร็จ คนกลุ่มนี้ก็เลยไปใช้วิธีปลุกกระแสชาตินิยม กระแสรักชาติ รวมทั้งใช้กลยุทธ์ประชานิยม (ทำให้คนเชื่อว่าจะได้ใช้ น้ำมันราคาถูก) มาจูงใจสังคม แล้วก็เลยคิดประดิษฐ์คำเท่ๆ อย่าง “อธิปไตยพลังงาน” ขึ้นมาเพื่อใช้นำปลุกระดมผู้คน

ทำไมผมถึงบังอาจสรุปอย่างนี้ ..จะขออธิบายนะครับ

ถ้าไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็จะแปลความหมายคำว่า อธิปไตย ว่าหมายถึง “อำนาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน” หรือในภาษาอังกฤษก็จะตรงกับคำว่า"Sovereignty" ซึ่งก็มีความหมายตรงกัน คือหมายถึงว่า รัฐใดที่เป็นอิสระย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือขอบเขตของประเทศตน จะออกกฎหมาย จะบังคับใช้กฎหมายที่ตนมีอยู่ได้ จะใช้ระบอบใดปกครองก็เป็นสิทธิ

การใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ย่อมทำได้ภายใต้กฎหมาย ภายใต้รัฐาธิปัตย์ของแต่ละประเทศ ..แต่ทั้งนี้ก็จะต้องคำนึงถึงพันธสัญญาที่ตนมีอยู่ ทั้งกับประเทศต่างๆ หรือกับเอกชนและประชาชน ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในโลกนี้ด้วย..แต่เอาเข้าจริงก็มีการใช้อำนาจโดยละเมิดพันธะที่ว่า โดยประเทศต่างๆ อยู่เสมอๆ ซึ่งก็ยังสามารถทำได้และมีผลภายในเขตประเทศตน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ย่อมต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมา (Consequences) ด้วย เช่น ประเทศอาจออกกฎหมายยึดกิจการบางอย่างของต่างชาติที่อยู่ในเขตแดนเป็นของรัฐ หรืออาจเบี้ยวไม่ยอมรับพันธสัญญาที่ทำไว้ก็ได้ แต่สิ่งที่ตามมาก็อาจทำให้ ไม่มีใครมาค้าขายลงทุนด้วยอีก หรืออาจถูกปฏิบัติตอบเยี่ยงเดียวกัน (คือยึดของเราบ้าง) หรือถ้าหนักขึ้นก็อาจจะถูกแซงชั่นซึ่งมีตั้งแต่ระดับอ่อนอย่างการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าบางชนิด ไปจนถึงระดับแรง เช่น งดเว้นการค้าขายการลงทุนด้วยเลย หรือถ้าหนักที่สุดก็คือการประกาศสงครามเข้าต่อสู้รุกราน โดยกองทัพกันเลย (มีน้อยครั้งนะครับ และต้องเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ)

จะขอยกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวนะครับ ..อย่างการที่เราถูกกล่าวหาใน TIP Report ว่าไม่เอาจริงกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หรือถูกให้ใบเหลืองจาก IUU เรื่องประมงผิดกฎหมาย อันอาจทำให้จะถูกกีดกันการค้า หรืองดนำเข้าอาหารทะเลจากไทย ซึ่งโดย “อำนาจอธิปไตย” เราอาจจะเมินเฉย ด่ากลับโดยไม่ทำอะไรก็ย่อมได้ แต่ก็ต้องยอมรับผลที่อาจทำให้สินค้าไทยจะขายไม่ออก หรือทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องพังพินาศไป ..ที่เราต้องนั่งมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพราะเราไม่มี “อธิปไตยอาหารทะเล” หรอกนะครับ แต่เพราะเราไม่อยากเผชิญผลกระทบต่างหาก

หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่ง ..การที่ประเทศไทยโดนฟ้องโดยเอกชนในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า ละเมิดสัญญาคุ้มครองการค้าที่ทำกับเยอรมันในกรณีบริษัททางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ แล้วเราแพ้คดี โดนปรับกว่า 30 ล้านยูโรแล้วไม่ยอมจ่าย ทำให้รัฐบาลเยอรมันทำการยึดเครื่องบินพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมฯที่เข้าไปในเขตประเทศเขาเมื่อปี 2554 จนต้องยอมเอาหนังสือค้ำประกันธนาคารไปแลกเครื่องบินคืนมา ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะดื้อดึงใช้อำนาจอธิปไตยตอบโต้ เช่น ยึดทรัพย์รัฐบาลเยอรมัน หรือของเอกชนที่อยู่ในประเทศเราบ้างก็ย่อมทำได้ แต่ก็คงจะส่งผลลุกลามร้ายแรงไปกว่านี้ ซึ่งที่เรายอมไปก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่มี “อธิปไตยทางด่วน” ใดๆ ทั้งสิ้น

(โปรดติดตามตอนจบ สัปดาห์หน้า)

----------------

บรรยง พงษ์พานิช