รัฐ(บาล)ประหารตุรกี: จะถูกจะผิดต้องประชาธิปไตยไว้ก่อน

รัฐ(บาล)ประหารตุรกี: จะถูกจะผิดต้องประชาธิปไตยไว้ก่อน

เหตุการณ์รัฐ(บาล)ประหารในตุรกีครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม มีการพูดถึงบทบาทของพรรคฝ่ายค้านมาก

เป็นพิเศษ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านทั้งสามพรรค (รัฐสภาตุรกีมีสี่พรรคอีกหนึ่งพรรคคือพรรครัฐบาล) แสดงท่าทีเป็นหนึ่งเดียวไม่ยอมรับการโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรัฐ(บาล)ประหารเช่นนี้ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ถึงขั้น Mission Unthinkable ที่ยากจะเกิดขึ้นได้ในการเมืองตุรกี(หรือในประเทศไหนๆ) ที่จะเห็นพรรคฝ่ายค้านทั้งสภาแสดงท่าทีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับฝ่ายรัฐบาล เพราะพรรคฝ่ายค้านถูกกระทำต่างๆ นานาจากฝ่ายอำนาจรัฐของประธานาธิบดีเรเจ๊พ ทายยิบ เออร์เดอร์วัน จนยากจะเป็นเนื้อเดียวกันในทางการเมืองได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว

พรรคประชาธิปไตยประชาชน (HDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนและเป็นตัวแทนของกลุ่มชาวเคิร์ด ชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน ก็ถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนักในรอบปีที่ผ่านมาจนชาวเคิร์ดต้องสูญเสียชีวิตหลายร้อยคน ในขณะที่หัวหน้าพรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP) ก็เพิ่งโดนศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม (ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารไม่กี่ชั่วโมง) มีความผิดข้อหาหมิ่นประมาทใส่ร้ายกล่าวหาว่าท่านผู้นำเออร์เดอร์วันเป็นเผด็จการพร้อมต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเกือบ 6 แสนบาท ส่วนพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (MHP) นั้นถือได้ว่าเป็นพันธมิตรทางการเมืองของพรรครัฐบาล

มูลเหตุสำคัญที่มีส่วนผลักดันทำให้พรรคฝ่ายค้านทุกพรรค (โดยเฉพาะพรรค CHP และพรรค HDP) จำเป็นและจำใจต้องเลือกยืนเคียงข้างผู้นำของประเทศ (แบบชั่วคราว) โดยแถลงการณ์คัดค้านการ(รัฐ)ประหาร ก็เนื่องมาจากการที่ทหารผู้ก่อการใช้ทั้งรถถังและเฮลิคอปเตอร์ยิงอาวุธหนักเข้าใส่อาคารรัฐสภาจนเสียหายไม่น้อยในระหว่างที่ยังมีการประชุมสภาอยู่ ทำให้สมาชิกทั้งสภา (ตุรกีไม่มีวุฒิสภา) ตกอยู่สภาพหัวอกเดียวกัน โดยไม่อาจจะวางเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะรัฐสภาถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น พรรคการเมืองต้องยึดและถือหลักการประชาธิปไตยเหนือกว่าความแค้นและความขัดแย้งทางการเมืองไว้ชั่วคราว

หากว่า อาคารรัฐสภาซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ถูกยิงถล่มจนเสียหายเป็นที่ประจักษ์แล้ว บางที สถานการณ์ในวันนั้นอาจจะไม่ใช่เป็นเหมือนที่เกิดขึ้นในวันนั้นจริงๆ ก็เป็นได้ บางทีพรรคฝ่ายค้านอาจเลือกที่จะวางตัวเป็นกลางหรือนิ่งเฉยอยู่บนภู ปล่อยให้เป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจโดยตรงระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทหารผู้ก่อการ และหากพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคไม่ประกาศจุดยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลแล้ว บางทีสถานการณ์ในคืนวันนั้นอาจจะไม่ได้พัฒนาไปในลักษณะที่ส่งผลดีทางจิตวิทยาต่อประธานาธิบดีเออร์เดอร์วันในช่วงเวลาคับขันก็เป็นได้

ประธานาธิบดีเออร์เดอร์วันถึงกับต้องขอบคุณพรรค CHP และพรรค MHP สำหรับบุญคุณทางการเมืองครั้งนี้ (ยกเว้นเฉพาะพรรค HDP ที่ยังถือเป็นศัตรูทางการเมืองตราบเท่าที่ชาวเคิร์ดไม่ยุติความคิดแบ่งแยกดินแดน) และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำตุรกีคนนี้รู้จักกล่าวขอบคุณฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นเหมือนกัน

ถึงแม้ว่าจะร่วมกันประณามรัฐ(บาล)ประหารอย่างพร้อมเพรียงจนกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองตุรกี แต่ก็ไม่ปรากฏว่า พรรคฝ่ายค้านจะเรียกร้องให้ประชาชนหรือผู้สนับสนุนพรรคออกมาต่อสู้และต่อต้านรัฐ(บาล)ประหาร อย่างที่ประธานาธิบดีเออร์เดอร์วันกระทำ จนนำไปสู่ข้อสงสัยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต่างพากันออกมาบนท้องถนนในยามดึกดื่นจนฟ้าสางเพื่อต่อต้านการรัฐ(บาล)ประหารอย่างชนิดไม่กลัวตายนั้นล้วนแต่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนท่านผู้นำทั้งนั้น ใช่หรือไม่(?)

การที่รัฐสภามีมติล่าสุดให้การรับรองการประกาศภาวะฉุกเฉินให้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลาเป็นเวลาสามเดือน ด้วยคะแนนเสียง 356 ต่อ 115 สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านอย่างท่วมท้นเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในคืนแรกของการรัฐ(บาล)ประหาร เพราะสองพรรคฝ่ายค้าน (มีจำนวนเสียงในสภารวมกัน 193 เสียงจากทั้งหมด 550 เสียง) ไม่อาจจะเชื่อใจได้อย่างสนิทว่า การกวาดล้างปฏิปักษ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศแบบ เหมาเข่งนี้ เป็นไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของประเทศอย่างแท้จริง