ตัวแปร 'เยส-โน' ชี้ขาด 'ร่าง มีชัย'

ตัวแปร 'เยส-โน' ชี้ขาด 'ร่าง มีชัย'

เหลืออีกไม่กี่วัน ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์

 หรือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ลงประชามติ ในวันที่7สิงหาคม ก็จะถูกชี้ขาดโดยประชาชน ว่า “เยส” หรือ “โน” คือ “รับ” หรือ “ไม่รับ” แล้ว

รวมถึงคำถามพ่วง ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้รัฐสภา (รวม ส.ว.ด้วย) เลือก “นายกรัฐมนตรี” จากเดิมที่ให้แต่เฉพาะสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)

ช่วงนี้ประเด็นที่น่าสนใจ จึงอยู่ที่ว่า “ตัวแปร” อะไรบ้าง ที่จะมีส่วนพลิกความคาดหมาย หรือว่า อยู่ในความคาดหมายของหลายคน ลองมาไล่เรียงดู

ตัวแปรแรกเรื่องของการแบ่งฝ่าย เลือกข้าง อันเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ทางการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประชาชนส่วนหนึ่ง ไม่เลือกที่จะเป็นฝ่าย “ทักษิณ” หรือ “คนเสื้อแดง” เพราะฉะนั้น คนส่วนนี้ก็จะเลือกฝ่ายตรงข้ามกับ “ทักษิณ” และ “คนเสื้อแดง”

กรณีนี้จุดยืนของ “ทักษิณ” และ แกนนำคนเสื้อแดง มีผลต่อการตัดสินใจของทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ “ทักษิณ” และ “คนเสื้อแดง”

ดังนั้น การที่ “คสช.” แสดงออกอย่างชัดเจนว่า เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ “ทักษิณ” ก็จะเข้ากรณีนี้ด้วย

ตัวแปรที่สองฐานเสียงของพรรคการเมือง กล่าวคือพรรคเพื่อไทยประกาศ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมานานแล้ว ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่งออกมาแสดงจุดยืน “ไม่รับ เป็นการส่วนตัว สวนทางกับ “ลุงกำนัน”สุเทพ เทือกสุบรรณ“ผู้มากบารมี” แห่งประชาธิปัตย์ ที่ชี้แจง “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ส่วนพรรคเล็กพรรคน้อยไม่ต้องพูดถึง สนับสนุน “คสช.” อยู่แล้ว

ตัวแปรที่สามความต้องการเลือกตั้ง ที่เริ่มเป็นกระแสในหมู่ประชาชนทั่วไป เพราะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาความเบื่อหน่ายสภาพความขัดแย้งระหว่าง “คสช.” กับกลุ่มคัดค้านต่อต้าน โดยเชื่อว่า ถ้ามีการเลือกตั้งโดยเร็วทุกอย่างจะดีขึ้น

ตัวแปรที่สี่ความไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าใจว่าจะมีผลอย่างไรต่อตัวเองหรือไม่ เพราะไม่ได้สนใจข่าวสาร อีกทั้งผู้ใหญ่บ้าน และ “ครู ค.”(วิทยากรชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญระดับหมู่บ้าน) ก็อธิบายไม่ชัดเจน พูดมากก็กลัวผิดกฎหมาย ตัวแปรนี้ ก็อาจทำให้การทำมาหากินมีความสำคัญกว่า หรือ โอกาสที่ทำให้บัตรเสียก็มีสูง รวมทั้งตัดสินใจตามคนอื่น หรือ ตามสิ่งที่เชื่อจากที่ได้ยินได้ฟังมา

คงเห็นแล้วว่า ตัวแปรใหญ่อยู่ตรงไหน การผสมผสานของหลายตัวแปร อาจทำให้คนที่คาดว่า “ชนะแน่” ไม่เป็นอย่างที่คาดก็เป็นได้ ใครจะรู้?