เส้นทางสู่เศรษฐกิจสีเขียวของไทย

เส้นทางสู่เศรษฐกิจสีเขียวของไทย

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” หรือ “Green economy” กันมาบ้างแล้ว ตีความกันง่ายๆ เศรษฐกิจ

สีเขียว ก็คือ เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง การพัฒนาเศรษฐกิจต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องใช้วัตถุดิบ เครื่องจักร พลังงาน และเมื่อใช้เสร็จแล้วก็จะกลายเป็นขยะที่จะต้องกำจัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์จึงเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้อยู่ที่การเลือกระหว่างเศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม แต่อยู่ที่การสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งสองด้าน

เครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์เชิงนโยบายทั้งในด้านการส่งเสริม หรือลงโทษ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวในไทย ท่านอาจจะเคยได้ยินมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น จัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หรือจัดตั้งตลาดคาร์บอน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำมาปรับใช้กับไทยได้อย่างไร จะเกิดผลกระทบและจะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างหากจะนำมาใช้ในไทย

เหล่านี้เป็นคำถามที่น่าสนใจและต้องการงานวิจัยในการหาคำตอบ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้พ้นจากปัญหากับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วใช้อยู่ เพราะอาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นจนอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ไทยก็ยังคงประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะต้องได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กันกับปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร และความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้ สุดท้ายสถานะความพร้อมทางสถาบันของภาครัฐ อันได้แก่ ระเบียบ กฎหมาย หน่วยงานรองรับ จำนวนและคุณภาพของบุคลากรของรัฐ และความพอเพียงของงบประมาณ ยังคงจะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนอีกมากเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียว

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้นำในด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญสร้างองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียว จึงได้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Center for Policy Research on Green Economy หรือ PRO-Green) เพื่อเป็นคลังสมองด้านนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว เสริมสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาบนพื้นฐานแห่งความเป็นธรรม โดยจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการในการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ต่างๆ อันจะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่เหมาะสมกับบริบทของไทย

นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิชาการระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสานงานด้านการเรียนการสอนของคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเป็นบุคลากรในภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม และภาควิชาการ

ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยได้จัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น การจัดประชุมเครือข่ายนักวิชาการ ให้คำแนะนำปรับปรุงข้อเสนอโครงการวิจัยเศรษฐกิจสีเขียว จัดฝึกอบรมเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และออกจุลสารจับกระแสเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งงานเสวนาทางวิชาการ PRO-Green ภายใต้หัวข้อ เส้นทางสู่เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยในวันพุธที่ 10 สิงหาคมนี้ เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องจามจุรี บอลรูม B โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพ ซึ่งสามารถสำรองที่นั่ง (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) ได้ที่ [email protected]   และติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจสีเขียวจาก facebook ที่ www.facebook.com/progreen/

----------------------

ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์