เจนวายกับวินัยทางการเงิน

เจนวายกับวินัยทางการเงิน

ปัจจุบันกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานและเริ่มลงหลักปักฐานสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต คือกลุ่มที่หลายๆ คน

รู้จักในชื่อของ ‘กลุ่มเจนวาย’ ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทค่อนข้างสูงในฐานะของการเป็นเจเนอเรชั่นที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างปรากฏการณ์ด้านเทคโนโลยีให้เป็นที่ประจักษ์กับสายตาผู้คน อีกทั้งยังเป็นผู้บริโภคตัวยงที่มีการจับจ่ายใช้สอยสร้างเงินสะพัดให้เกิดในสังคมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ปัจจุบันกลุ่มเจนวายคือกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงอายุครอบคลุมตั้งแต่ 15-34 ปี อันถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศในอนาคต โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงทั้งที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวและมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งด้วยความโดดเด่นของคนกลุ่มนี้ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือที่เรียกกันว่า ‘Digital native’ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เคอะเขินกับการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ออนไลน์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโลกเสมือนเป็นประหนึ่งปัจจัยที่ห้าที่ขาดไม่ได้ในชีวิต ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้เราจะเริ่มเห็นแนวโน้มของการพูดถึง ‘Fintech’ ที่ว่าด้วยการเชื่อมเทคโนโลยีการสื่อสารกับผลิตภัณฑ์และกิจกรรมทางเงิน ซึ่งถือว่าเป็นบริการที่จะเข้าถึงคนเหล่านี้ได้แบบทุกที่ทุกเวลา ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์บนหน้าจอมือถือ

จากรายงานวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ระบุให้เห็นถึงปริมาณเงินที่สะพัดในสังคมจากการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มเจนวายว่า มีส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 5 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 25% ของรายได้รวมของประเทศ โดยเจนวายมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นรายได้เฉลี่ยที่ค่อนข้างสูงสำหรับวัยเริ่มต้นทำงานเมื่อเทียบกับยุคก่อน อย่างไรก็ตามแม้จะมีรายได้สูงแต่คนกลุ่มนี้ก็มีรายจ่ายสูงตามไปด้วยคือ สูงประมาณ 80% ของรายได้ ซึ่งเมื่อคำนวนแล้วพบว่า ยอดการใช้จ่ายของคนกลุ่มเจนวายนี้คิดเป็น 27% ของยอดการใช้จ่ายของประชากรทั่วประเทศไทย

ทั้งนี้ ด้วยการบริการแบบออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็ว ผนวกกับแรงกระตุ้นเพื่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มช่องทางช็อปปิ้งได้ง่ายขึ้นในแพลตฟอร์มใหม่ๆ ทำให้คนเจนวายมีอัตราการออมค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ แม้ตัวเองจะมีอายุมากขึ้น แต่อัตราการออมยังคงที่อยู่ที่ 22% ของรายได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับเจนเนอเรชั่นรุ่นพี่อย่างเจนเอ็กซ์ที่มีอัตราการออมเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยออมกันอยู่ที่ 35% ของเงินรายได้ ทำให้โจทย์ใหญ่ใจความในการทำนายสภาวะทางการเงินภาคครัวเรือนของประเทศในกลุ่มเจนวาย คือเรื่องของวินัยทางการเงินเป็นหลัก

ทั้งนี้ จากการสำรวจความรู้ทางการเงินของประชาชนไทยตามกรอบของ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) และ Asian Development Bank (ADB) พบว่า คนกลุ่มเจนวายเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ยังขาดองค์ความรู้ทางการเงินที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตอนาคตอย่างมีเสถียรภาพ โดยจาการออกแบบสอบถามความรู้ทางการเงินใน  5 มิติ ได้แก่ 1)จัดการข้อมูลด้านการเงิน (Keeping track) 2) บริหารจัดการด้านการเงินระยะสั้น (Making ends meet) 3) เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Choosing financial products) 4) วางแผนทางการเงิน(Planning ahead) และ 5) การแก้ปัญหาและเข้าถึงข้อมูลทางด้านการเงิน (Getting help)

พบว่า แม้คนกลุ่มนี้มีค่าเฉลี่ยความรู้ทางการเงินสูงขึ้นตามวัยในทุกมิติแต่สำหรับมิติในด้านการบริหารจัดการด้านการเงินระยะสั้น (Making ends meet) กลับพบว่ามีอาการชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่มากทั้งนี้จากงานวิจัยนี้ยังพบว่า กลุ่มเจนวายยังขาดความรู้หลักๆ คือ 1) การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 2) การบริหารจัดการด้านการเงินระยะสั้น และ 3) การแก้ปัญหาและการเข้าถึงข้อมูลด้านการเงิน

ดังนั้น ด้วยแรงกระตุ้นในการจับจ่ายใช้สอยผนวกกับการบริการทางการเงินออนไลน์ที่มากหน้าหลายตา คนเจนนี้จึงถูกกดดันให้ต้องแสวงหารายได้หลายทาง เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งแน่นอนว่า อิสรภาพทางการเงินคือเป้าหมายของชีวิต โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการสูงกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ทำให้การปฏิเสธเข้าทำงานในระบบหรือในรูปบริษัทแบบพนักงานประจำ และการเข้าทำงานเช้า-ออกเย็นถือเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้อย่างมาก ซึ่งทำให้คนเจนนี้พร้อมที่จะมุ่งสู่หนทางของการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ หัวใจใส ซึ่งมีเถ้าแก่น้อย หรือคุณเมย์จากร้าน after you เป็นไอดอลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชีวิต โดยมองหาที่มาของรายได้จากโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะการทำการค้าหรือหาแหล่งทุนในลักษณะของ Crowd funding

กระแส Fintech ที่เปิดรับเทคโนโลยีให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่างๆ ทางการเงินนำมาซึ่งความสะดวกสบายและตอบโจทย์คนเจนวายอย่างปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการโหมของบริโภคนิยมกรอปกับค่านิยมการจัดจ่ายเกินตัวของสังคมแบบอวดรวยกันในโลกเสมือน ทำให้คนเจนวายอาจตกหลุมพรางของการเป็นคนมือเติบที่ยากจะเหลือเก็บเหลือออมในสภาวะฉุกเฉินที่อาจต้องใช้เงินสำรองกระทันหัน ดังนั้นการสร้างความรู้เท่าทันทางการเงินในโลกออนไลน์ให้กับกลุ่มเจนวายจึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้การทำความเข้าใจทัศนคติและพฤติกรรมของคนเหล่านั้นอย่างถ่องแท้ พร้อมกับประสานคำว่า ‘ออม’ กับ คำว่า ‘ลงทุน’ ให้เป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวกันในเชิงเนื้อหา เพราะหากคนเจนนี้คิดจะออม มันต้องมาพร้อมกับการงอกเงย ดังเช่นที่เขามักพูดกันในโลกเงินต่อเงินในปัจจุบันว่า คนฉลาดในยุคเจนวายต้องหัดให้เงินทำงาน