รัฐ(บาล)ประหารตุรกี: ปรากฏการณ์ “ครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

รัฐ(บาล)ประหารตุรกี: ปรากฏการณ์ “ครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 93 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีที่เกิดการรัฐ(บาล)ประหารในตุรกี และไม่ใช่

ครั้งแรกในชีวิตทางการเมืองที่ราเจ๊ฟ ทายยิป เออร์โดวันต้องเผชิญการท้าทายอำนาจจากทหารโดยตรง

โดยข้อเท็จจริงแล้ว รัฐ(บาล)ประหารล่าสุดถือเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 56 ปี และนับแต่ขึ้นมาครองอำนาจในปี 2002 เออร์โดวันก็กลายเป็น “สายล่อฟ้า” ที่จุดเชื้อทำให้มีความพยายามจะทำรัฐ(บาล)ประหารหลายครั้ง และไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟตูฟูละฮ์ กูเลนนักการศาสนาชาวเติร์กที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐถูกกล่าวหาจากฝ่ายเออร์โดวันว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามโค่นล้มอำนาจ

แต่รัฐ(บาล)ประหารที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 36 ปีนี้ สร้างปรากฏการณ์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์” ที่น่าสนใจหลายๆ ประการ

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของตุรกียุคใหม่นับตั้งแต่มุสตาฟา เคมาลสถานปนาสาธารณรัฐตุรกีขึ้นมาในปี 1923 ที่อาคารรัฐสภาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยถูกถล่มด้วยอาวุธหนักจนเสียหายไม่น้อย กลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายค้านทุกพรรค ซึ่งแม้จะเคยถูกกระทำต่างๆจากประธานาธิบดีเออร์โดวัน ต้องหันมายืนเคียงข้างผู้นำของประเทศ (แบบชั่วคราว) และคัดค้านการ(รัฐ)ประหารครั้งนี้อย่างแข็งขัน เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองตุรกี

ต้องถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของอดีตดินแดนแหล่งอารยธรรมอ๊อตโตมาน ที่ได้เห็นบทบาทสำคัญของประชาชนในการออกมาต่อต้านและเผชิญหน้ากดดันกลุ่มผู้ก่อการรัฐ(บาล)ประหารจนประสบผลสำเร็จ แต่ก็มีข้อสงสัยคาใจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ณ คืนวันนั้นคือประชาชนธรรมดาทั่วไปหรือคือแนวร่วมผู้สนับสนุนทางการเมืองของท่านผู้นำ?

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทหารเติร์กประสบความล้มเหลวไม่สามารถทำรัฐ(บาล)ประหารยึดอำนาจได้ และเป็นครั้งแรกที่ก่อการโดยกำลังเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของกองทัพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารระดับกลางและระดับล่าง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ทหารประสบความสำเร็จมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1960 เพราะดำเนินการทั้งกองทัพที่ระดับผู้บัญชาการสนับสนุนเต็มที่

ผลพวงของความล้มเหลวดังกล่าว ต้องถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกองทัพเติร์ก(ซึ่งมีกำลังพล 6 แสนนาย) ที่ชาวตุรกีและชาวโลกได้เห็นภาพทหารจำนวนหนึ่งต้องยอมจำนนและยอมแพ้ ได้เห็นภาพที่ทหารถูกทุบตีและถูกทำร้ายอย่างน่าอัปยศให้อับอายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แววตาที่บ่งบอกความหวาดกลัวอย่างสุดขีดของทหารหลายๆ นายจะเป็นภาพที่หลอกหลอนกองทัพเติร์กไปอีกนาน จนปิดฉากความคิดจะก่อการรัฐ(บาล)ประหารไปอย่างถาวร? หรืออาจหล่อหลอมทำให้เกิดความคิดแค้นอยากเอาคืนในวันหน้าก็เป็นได้

ยิ่งไปกว่านั้น ความล้มเหลวของรัฐ(บาล)ประหารครั้งนี้ ส่งผลให้นายทหารชั้นสูงระดับนายพลนายพันสายบังคับบัญชานับร้อย (เกือบหนึ่งในสามของกองทัพ) ถูกจับกุมรุมซ้อมด้วยสภาพใบหน้าที่เชื่อว่าถูกทำร้ายอย่างชนิดที่มุสตาฟาล เคมาล บิดาแห่งกองทัพตุรกีไม่อาจจะรับได้ จนทำให้กองทัพเติร์ก ซึ่งมีกำลังพลใหญ่ที่สุดกองทัพหนึ่งในยุโรปและตะวันออกกลางมีสภาพไม่ต่างจากคนเป็นอัมพฤกษ์ ที่อาจจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป?

ในทางจิตวิทยาแล้ว ประธานาธิบดีเออร์โดวันได้ดิสเครดิตฐานะ Invincible ของกองทัพเติร์กที่อยู่คงกระพันเป็นเสาหลักตามเจตนารมณ์ของมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก บิดาผู้ก่อตั้งประเทศยุคใหม่มานานเกือบครบศตวรรษ และอาจจะเป็นครั้งแรกๆ (ถ้าไม่ใช่ครั้งแรก) ที่ “เลือดใหม่” ของกองทัพเติร์กจะต้องยอมเชื่อฟังทำตามคำสั่งเออร์โดวันมากขึ้นๆ และศรัทธาต่อเจตนารมณ์ของบิดาแห่งกองทัพอย่างเคมาล อตาเติร์กน้อยลงๆ

ถึงแม้จะเป็นครั้งแรกที่ชาวเติร์กได้เห็นผู้นำประเทศรู้จักกล่าวคำขอบคุณต่อผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานวันก่อการ แต่ด้วยความคิดที่จะล้างบางกำจัด ไวรัสที่เป็นปฏิปักษ์และภัยคุกคามต่อฐานอำนาจ ทำให้ประธานาธิบดีเออร์โดวันต้องประกาศภาวะฉุกเฉินบังคับใช้ทั่วประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2002 พร้อมทั้งสร้างประวัติศาสตร์จับกุม คุมขัง ปลดไล่ ถอดถอนผู้พิพากษา ทหาร ตำรวจ ครูอาจารย์ ข้าราชการพลเรือนและสื่อมวลชนอย่างขนานใหญ่

ด้วยความซับซ้อนของการรัฐ(บาล)ประหารครั้งนี้ที่ยังไม่สามารถสรุปทุบโต๊ะได้แน่ชัดว่า ใครหรือประเทศไหนกลุ่มใดที่อยู่เบื้องหลัง แต่ต้องถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ฐานะความเป็นสมาชิกนาโต้ของตุรกีเริ่มสั่นคลอนให้เห็นนับตั้งแต่เข้าร่วมในปี 1952