รัฐเดินหน้าลงทุน แล้วเอกชนยังไงต่อ..!

รัฐเดินหน้าลงทุน แล้วเอกชนยังไงต่อ..!

ที่ผ่านมา หนึ่งใน “ข้อเรียกร้อง” สำคัญของภาคเอกชน

ในการ“เรียกคืน”ความเชื่อมั่นการลงทุน ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลาย ชนิดที่เรียกว่า เงินกำลังจะหมุนไป ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการขอให้รัฐ “เร่ง” เดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) โดยเฉพาะในช่วง ครึ่งปีหลัง ของปีนี้

ไปถามความเห็นภาคเอกชนระดับบิ๊กของประเทศ กว่า 80%  เป็นอันต้องฝากความหวังเศรษฐกิจปีนี้ไว้กับ การเดินหน้าลงทุนเมกะโปรเจค

ที่สำคัญ พวกเขาสำทับด้วยว่า ถ้ารัฐลงทุนแล้ว จะทำให้ ภาคเอกชนเดินหน้าลงทุนตาม

ทว่า วันเวลาผ่านพ้นครึ่งปีแรกมาร่วมเดือน บรรยากาศภาคเอกชนของภาคเอกชน ยังไม่พลิกฟื้น แม้ว่า ในฟากของรัฐจะติดสปีดเดินหน้าโครงการลงทุนต่อเนื่อง โดยระบุตัวเลขหวือหวาว่า ในปี 2559 จะมีเมกะโปรเจครอการประมูล กว่า 1.77 ล้านล้านบาท ทั้งระบบถนน ระบบราง อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ 

สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี วงเงิน 110,116 ล้านบาท, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 56,690 ล้านบาท ,สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 54,644 ล้านบาท ,สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก สายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 44,157 ล้านบาท และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 131,003 ล้านบาท

รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 49,476 ล้านบาท ,โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง A วงเงิน 1,864 ล้านบาท ,โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 วงเงิน 2,031 ล้านบาท

บูมเมอแรง ตอนนี้ จึง “เหวี่ยงกลับ” มาที่ภาคเอกชน เพื่อทวงคำตอบที่ว่า ไหนว่าจะลงทุน ?”

สอบถามกลับไปที่เอกชนหลายราย ได้ความว่า ที่ยังไม่เร่งลงทุนตามรัฐ เพราะเอาเข้าจริง กำลังซื้อในประเทศ กลับยังไม่ฟื้นตัว แสดงว่า “ยาแรง” ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ยังไม่เห็นผล

อย่างที่เคยย้ำว่า เศรษฐกิจไทย พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกเป็นหลัก เมื่อทิศทางเศรษฐกิจโลกแค่ทำท่าจะโงหัว ประกอบกับ ปัญหาการบ้านการเมืองในต่างประเทศ กรณี เบร็กซิท (อังกฤษ ออกจากสหภาพยุโรป)  ทำให้ภาคเอกชน รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์หลายราย วิเคราะห์ด้วยความกังวลว่าจะกระทบลามไปสู่เศรษฐกิจโลก และธุรกิจในไทย ฐานที่อังกฤษเป็นศูนย์กลางการเงินในยุโรป 

ดีมานด์ (ความต้องการซื้อ) จึงยังไม่กลับมา

แคมเปญการตลาดในช่วง ครึ่งปีหลังจึงคึกคักอย่างยิ่งในทุกธุรกิจ ไล่มาตั้งแต่ ค้าปลีก เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ฯลฯ  เป็นไปเพื่อ “กระตุ้นยอดขาย” 

ตลาดล่างกระทบ ตลาดกลาง บน มีกำลังซื้อแต่ไม่ใช้ ทุกอย่างจึงเทไปหากำลังซื้อที่พอมีอยู่จูงใจงัดง้างให้ควักตังค์ ขณะที่ตลาดล่าง ก็ต้องเล่นราคา แบบหั่น “มาร์จิ้น” กันสุดๆ   

ท่ามกลางภาวะ เศรษฐกิจตกสะเก็ดของจริง..!!