ไทยกับ‘ศูนย์กลางมะพร้าวน้ำหอม’อาเซียนและโลก

ไทยกับ‘ศูนย์กลางมะพร้าวน้ำหอม’อาเซียนและโลก

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการให้มีการขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวเพื่อทดแทนการนำเข้า

คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมะพร้าวทั้งระบบก็ขานรับ ซึ่งตรงกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ที่กำลังจัดทำต้นแบบธุรกิจมะพร้าวในตลาดโลก เพราะมะพร้าวถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ตามรายงานของ “FAO Statistics” ระหว่างปี 2547-2557 พื้นที่ปลูกมะพร้าวของโลกเพิ่มจาก 69 ล้านไร่ เป็น 75 ล้านไร่ ผลผลิตเพิ่มจาก 55 ล้านตันเป็น 61 ล้านตัน โดย 3 ประเทศที่ปลูกมากสุดหรือที่เรียกว่า “Big Three” คือฟิลิปปินส์ (29%) อินโดนีเซีย (25%) และอินเดีย (17%) ทั้งสามประเทศก็มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่ไทยปลูกมากเป็นอันดับที่ 6 และพื้นที่ลดลงจาก 1.6 ล้านไร่เหลือ 1.2 ล้านไร่ ส่วนเวียดนามมีพื้นที่เพิ่มจาก 7 แสนไร่เป็น 8 แสนไร่ และมาเลเซียก็ลดลงจาก 1.1 ล้านไร่เหลือเพียง 5 แสนไร่

ส่วนผลผลิตของโลกอินโดนีเซียมีสัดส่วน 31% (ผลผลิตจาก 16 เป็น 19 ล้านตัน) ฟิลิปปินส์ร้อยละ 23 (ผลผลิตจาก 14.3 เป็น 14.6 ล้านตัน) และ อินเดียร้อยละ 17 (ผลผลิตจาก 8 เป็น 11 ล้านตัน) ผลผลิตของไทยอยู่อันดับที่ 9 ลดลงจาก 2 ล้านตันเหลือ 1 ล้านตัน และเวียดนามอันดับที่ 6 ผลผลิตเพิ่มจาก 9 แสนเป็น 1.3 ล้านตัน สำหรับผลผลิตต่อไร่ไทยมีศักยภาพการผลิตอยู่อันดับที่ 9 (ลดลงจาก 1,285 เหลือ 772 กก.ต่อไร่เวียดนามเป็นอันดับที่ 2 เท่ากับ 1,579 กก.ต่อไร่

จากพื้นที่ปลูกมะพร้าวของไทย แบ่งออกเป็นมะพร้าวแกง 1.1 ล้านไร่ ผลิตได้ 9 แสนตัน (ลดลงจาก 1 ล้านตัน) มีครัวเรือน 2 แสนครัวเรือน และมะพร้าวน้ำหอม 1.2 แสนไร่ ผลิตได้ 318,361 ตัน (ลดลงจาก 5 แสนตัน) มีครัวเรือน 45,575 ครัวเรือน การที่พื้นที่ปลูกของไทยและผลผลิตต่อไร่ลดลงอย่างต่อเพราะที่ผ่านมาเกษตรกรไทยหันไปปลูกยางพารา ปลูกข้าว และปลูกปาล์มเนื่องจากผลตอบแทนที่มากกว่า (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยพบว่า ปี 2549-2553 ยางพาราให้ผลตอบแทน 9,580 บาทต่อไร่ ทุเรียน 6,615 บาทต่อไร่ สับปะรด 4,954 บาทต่อไร่ ปาล์มน้ำมัน 3,982 บาทต่อไร่ มะพร้าว 3,129 บาทต่อไร่ แต่ผมคิดว่าหลังปี 2555 ตัวเลขน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะราคายางพาราในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสินค้าผลไม้และทดแทนพลังงานน่าจะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม)

ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวทุกประเภทปี 2558 มูลค่า 11,243 ล้านบาท เพิ่มจาก 7 พันล้านบาท โดยร้อยละ 60 เป็นการส่งออกน้ำกะทิ (สหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย) รองลงมาคือน้ำมันมะพร้าว (ญี่ปุ่นและเกาหลี) และมะพร้าวผลสด (จีน UAE และฮ่องกง) และน้ำมะพร้าวบรรจุกล่อง (สหรัฐ ออสเตรเลีย) หันมาดูตลาดจีนกันบ้างในแหล่งผลิตมะพร้าวใหญ่ หรือ “Kingdom of Coconut” อยู่ที่เมืองตงเจียว ในเขตเหวินชาง มณฑลไห่หนาน ติดกับนครไหโข่ว มีมะพร้าวอยู่ 5 แสนต้น หรือ 40,000 ตัน (1 ต้นได้ 30 ลูกต่อปี) มีทั้งมะพร้าวสีแดงและเขียว คิดเป็น 50% ของมะพร้าวในมณฑลไห่หนาน ทั้งประเทศจีนผลิตได้ 2 แสนตัน แต่ความต้องการมะพร้าวทุกประเภทของจีนเพิ่มขึ้นทุกปี เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกมะพร้าวสดของไทยไปจีนเพิ่มจาก 2.5 แสนล้านบาทเป็น 500 ล้านบาท โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับสาม รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม

จีนให้ความสำคัญกับมะพร้าวอย่างมากเห็นได้จากการตั้ง “Coconut Research Institute : CRI” ที่เขตเหวินชาง ทำหน้าที่พัฒนาพันธุ์มะพร้าว การป้องกันศัตรูพืช พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป (Coconut Wine และ Coconut Powder และผลิตภัณฑ์อื่นๆ) และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และหากวัดความต้องการนำมะพร้าวบรรจุกล่องที่วัดจากความต้องการน้ำผลไม้และผักที่จีนนำเข้าจากไทยนั้นพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 42 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท (ตัวเลขการนำเข้าน้ำมะพร้าวบรรจุกล่องไม่มีตัวเลขบันทึก) น้ำมะพร้าวยี่ห้อดังของจีนส่วนใหญ่เป็นของบริษัท “Coconut Palm Group” ที่ผลิตเป็นน้ำกะทิใส

นอกจากนั้นก็เป็นของยี่ห้อ “Vita Coco” ของสหรัฐ ที่ร่วมทุนกับบริษัทกระทิงแดงของกลุ่ม “Reignwood Group” ของจีน (ถือหุ้น Vita Coco ร้อยละ 25) ปี 2015 ตั้งขายในห้าง 4 หมื่นแห่ง ส่วนบริษัทไทยที่เข้าไปในขณะนี้คือ ไทยโคโค่ของบริษัท ไทยโคโค่นัท จำกัด (มหาชน) จับมือกับกลุ่มบริษัทเหม่ยอี้เจีย (Mei Yi Jia Co,Ltd) บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ มีสาขาอยู่ทั่วมณฑลกวางตุ้ง ใน 18 เมือง อาทิ ตงกวน กวางโจว จงซาน เสิ่นเจิ้น 6,700 สาขา ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 8,000 สาขา ในมณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน)

ข้อคิดของการทำตลาดน้ำมะพร้าวในประเทศจีนคือ 1. พฤติกรรมการดื่มน้ำมะพร้าวของคนจีน ร้อยละ 80 ยังดื่มน้ำมะพร้าวกะทิ 2. คนจีนยังไม่สามารถแยกออกว่าอะไรคือ “มะพร้าวน้ำหอมกับน้ำมะพร้าวปกติ” และ 3. มะพร้าวสดเริ่มเป็นที่นิยมในตลาดจีน ตลาดที่สองคือตลาดสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดน้ำมะพร้าว “ตัวจริงเสียจริง” จากกระแสสุขภาพว่าการดื่มน้ำมะพร้าวแล้วจะทำให้ดีต่อสุขภาพ คนสหรัฐจึงนิยมดื่มมะพร้าวโดยเฉพาะที่บรรจุกล่องมากกว่าจากลูกสดๆ ซึ่งมีแบรนด์ที่หลากหลายมาก น้ำกะทิเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐมากที่สุดมูลค่า 4 พันล้านบาท เพราะจากกระแสความนิยมอาหารไทยที่มีมากกว่า 5,000 ร้าน รวมถึงอาหารเอเชียอื่นๆ ที่ใช้กะทิเป็นส่วนประกอบ

โดยในสหรัฐมีการบริโภคกะทิสำเร็จรูปทั้งในระดับร้านอาหาร และระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยล่าสุดของ Specialty Food Association สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้บริโภคภายในสหรัฐชื่นชอบและนิยมอาหารไทยติด 1 ใน 3 มะพร้าวขูดเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่สหรัฐนำเข้าจากไทยมากมูลค่า 91 ล้านบาท และน้ำมะพร้าวบรรจุกล่องก็เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากกระแสสุขภาพ จากรายงานของ “Global coconut water Market 2557-2562”

ในปี 2558 พบว่า แบรนด์ Vita Coco มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 มูลค่าสูง 500 ล้านดอลลาร์ รองลงมา ได้แก่ แบรนด์ Kero-Coco ของบริษัท Amacoco (บราซิล) และ Pepsi ยอดขาย 450 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยแบรนด์ Zico ของบริษัท Coca-Cola มีมูลค่ายอดขาย เท่ากับ 100 ล้านดอลลาร์ และแบรนด์ O.N.E ของบริษัท Pepsi ยอดขาย 40.4 ล้านดอลลาร์

สำหรับแบรนด์ไทย “FOCO” ของบริษัทวาสินี มีโรงงานผลิตที่ประเทศเวียดนาม นอกจากแบรนด์ดังกล่าวแล้ว ยังมียี่ห้อน้ำมะพร้าวมากกว่าอีก 20 แบรนด์ ในขณะที่ความต้องการน้ำมะพร้าวสดจากลูกก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นครลอสแองเจลิส ระบุว่าในอดีตสหรัฐนำเข้ามะพร้าวไทยเพียง 12 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน แต่ในปี 2557 นำเข้าถึง 56 ตู้ต่อเดือน หรือ 700 ตู้ต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 46%

จุดเด่นของตลาดน้ำมะพร้าวในสหรัฐ คือ 1.มีผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวที่หลากหลาย เช่น รสกาแฟ แตงโม สับปะรด โซดา และช็อคโกเลต 2.ร้านขายกาแฟ มีการนำเสนอกาแฟผสมน้ำมะพร้าว 3.ผู้บริโภคเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ หากมีฉลาก “Organic” “Non-GMO” และ “Guten Free” จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ น้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยสามารถเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจ

และไทยสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางของน้ำมะพร้าวน้ำหอมของอาเซียนและโลกได้ในอนาคต แต่ต้องปรับโครงสร้างการผลิตของมะพร้าวทั้งการผลิต การทำตลาดและการบริหารการจัดการเป็นระบบ เช่น เร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกและปลูกพันธุ์ดีทดแทนมะพร้าวเก่า การตั้งสถาบันมะพร้าวแห่งชาติ การใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานวัตถุดิบมะพร้าวแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้มีความหลากหลายมากขึ้น และคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำมะพร้าวน้ำหอมบรรจุกล่องโดยรสชาติไม่เปลี่ยน

..................................

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช