รัฐ(บาล)ประหาร: มองตุรกีแล้วมองย้อนอียิปต์(และไทย)

รัฐ(บาล)ประหาร: มองตุรกีแล้วมองย้อนอียิปต์(และไทย)

ในปฏิกิริยาที่มีต่อความพยายามทำรัฐ(บาล)ประหารในตุรกีครั้งล่าสุดนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐ

เป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกๆ ที่แสดงท่าทีไม่ยอมรับและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในตุรกีสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย นั่นคือต้องยืนเคียงข้างประธานาธิบดีเรเจ๊บ ทายิบ เออร์โดวัน ในขณะเดียวกัน จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้แถลงตอกย้ำจุดยืนที่ยึดมั่นต่อหลักการประชาธิปไตยของสหรัฐและยืนหยัดสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิถีประชาธิปไตยและสถาบันประชาธิปไตยอื่นๆ นี่คือหลักการสำคัญที่ผู้นำสหรัฐและผู้นำทั่วโลกอีกหลายๆ คนจะไม่มีวันแถลงประกาศตรงกันข้ามเป็นอย่างอื่น

แต่ข้อสงสัยที่ค้างคาใจผู้คนทั่วโลกมานานกว่าสามปีก็คือ ทำไมผู้นำสหรัฐคนเดียวกันนี้ถึงมีท่าทีและปฏิกิริยาต่อการรัฐ(บาล)ประหารในอียิปต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2013 ที่แตกต่างกับกรณีตุรกีอย่างชัดเจน

นับตั้งแต่วันแรกที่เกิดรัฐ(บาล)ประหารในอียิปต์จนถึงวันนี้ สหรัฐไม่เคยแถลงเรียกร้องอย่างแข็งขันให้ชาวอียิปต์ในทุกภาคส่วนบนดินแดนอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์แห่งนี้ออกมาสนับสนุนรัฐบาลของนายโมฮัมเม็ด มอร์ซี่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในตุรกีเลย ทั้งที่โมฮัมเม็ด มอร์ซี่คือประธานาธิบดีอิยิปต์คนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้นที่ควรจะต้องกล่าวถึงก็คือ คำแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ 457 คำของสหรัฐ ซึ่งไม่ปรากฏว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามาเรียกเหตุการณ์การโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนในอียิปต์ด้วยคำว่า"coup" หรือ “military coup” แต่อย่างใด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้นำสหรัฐหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “coup” หรือ “military coup” ในการอ้างอิงถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในครั้งนั้น และเลือกใช้ภาษาอย่างระมัดระวัง โดยเรียกเหตุการณ์ในอียิปต์ด้วยคำว่า “revolution” และระบุแต่เพียงว่า กองทัพอียิปต์ได้ “remove” หรือถอดถอนประธานาธิบดีโมฮัมเม็ด มอร์ซี่ (ออกจากตำแหน่ง) ในขณะที่จอห์น แคร์รีไปไกลถึงขั้นบอกว่า กองทัพอียิปต์ไม่ได้ยึดอำนาจหรือเทคโอเวอร์(อำนาจจากรัฐบาล) แต่กำลังฟื้นฟูประชาธิปไตย

ท่าทีที่ดูเหมือนเป็นนโยบายสองมาตรฐานของสหรัฐดังกล่าว ปรากฏให้เห็นชัดเจนอีกครั้งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของไทย ในแถลงการณ์ 151 คำที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 จอห์น แคร์รีได้ระบุอย่างชัดเจนแบบไม่ต้องตีความด้วยคำว่า “military coup” จนนำไปสู่ข้อสงสัยและข้อเรียกร้องหาคำตอบจากหลายๆ ฝ่าย แม้กระทั่งจากจอห์น แม็คเคนอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีชิงชัยกับบารัค โอบามาเมื่อปี 2008 ที่ว่า ทำไมเรียกเหตุการณ์ในไทยว่า “military coup” แล้วทำไมจึงไม่เรียกเหตุการณ์ในอียิปต์ด้วยคำว่า “military coup”?

ข้อสงสัย ณ ปัจจุบันที่ดูเหมือนจะท้าทายต่อท่าทีสองมาตรฐานของสหรัฐก็คือ หากว่าการรัฐ(บาล)ประหารในตุรกีประสบความสำเร็จ ท่าทีของสหรัฐจะเป็นไปในรูปแบบใด จะเหมือนหรือแตกต่างจากกรณีของอิยิปต์หรือไม่ อย่างไร คงจะไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างแน่นอน ชะตากรรมของประธานาธิบดีเรเจ๊บ ทายิบ เออร์โดวัน (หากถูกโค่นล้มสูญเสียอำนาจ)จะเหมือนกับอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเม็ด มอร์ซี่ (ที่ถูกจำคุกนับตั้งแต่ถูกยึดอำนาจและเพิ่งถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตเมื่อปีที่แล้ว) หรือไม่ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทราบได้

บางทีหลักการและนิยามความเป็นประชาธิปไตยในมุมมองของทางการสหรัฐ ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐ(บาล)ประหารในอียิปต์ อาจจะกลับมาหลอกหลอนผู้นำสหรัฐอีกครั้งก็เป็นไปได้ในการกำหนดท่าทีต่อรัฐบาลตุรกีนับจากนี้ไป หากพิจารณายึดถือเอาคำแถลงของเจน ซากีโฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศ (ณ เวลานั้น) ที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในอียิปต์ว่า กระบวนการความเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีเพียงการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นๆ มากกว่านั้น โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญหนึ่งซึ่งเจย์ คาร์นีย์ อดีตโฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีได้กล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า อดีตผู้นำพลเรือนของอียิปต์ไม่ได้บริหารปกครองประเทศอย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย คำนิยามดังกล่าวจะถูกหยิบยกมาเป็นมาตรฐานในการกำหนดท่าทีและนโยบายของสหรัฐ ต่อพัฒนาการในตุรกีภายหลังความล้มเหลวของรัฐ(บาล)ประหารหรือไม่

เพราะสิ่งที่ประธานาธิบดีของตุรกีคนปัจจุบันกระทำทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้ ถูกมองว่าเข้าข่ายขัดต่อหลักการประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าคำกล่าวหาที่มีต่ออดีตผู้นำอียิปต์หลายเท่า

 -----------------------

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

[email protected]