การเปลี่ยนแปลงภายใน และปัจจัยที่ต้องตาม (ตอน 3)

การเปลี่ยนแปลงภายใน และปัจจัยที่ต้องตาม (ตอน 3)

สวัสดีครับ ครั้งที่แล้วเราคุยกันถึง บริการ พร้อมเพย์ (Prompt Pay)

และในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้นมีความห่วงใย จากการได้รับข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้องนัก เลยทำให้มีการส่งข้อความเผยแพร่กันในที่ต่างๆ ไม่น้อย เป็นอีกปัจจัยนึงที่เป็นทั้งคุณและโทษ นั่นคือ การสื่อสาร และการใช้สื่อ หรือเครื่องมือออนไลน์ 

ประเป็นที่น่าสนใจคือ การนำเอาเครื่องมือที่เกิดใหม่เหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์เป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องดำเนินการด้วยความละเอียดอ่อน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้รับข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งประโยชน์คือข่าวสารสามารถส่งถึงกันได้ไว และทำให้สามารถดำเนินการใดๆ ได้ทันท่วงที เช่น หากมีข่าวเกิดอุบัติเหตุและแนะนำให้หลีกเลี่ยงช่องทาง หรือเมื่อตอนเกิดเหตุใดๆ ในต่างประเทศและมีเพื่อนหรือบุคคลในครอบครัวเดินทางอยู่ ก็สามารถได้รับข้อมูลความเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

แต่ในทางกลับกัน การส่งข้อความโดยไม่ได้ดูหรือตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เป็นความจริงหรือไม่นั้น ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้รับข้อมูลเชื่อว่าข้อมูลที่ส่งมานั้นมีความน่าเชื่อถือเพราะคนส่งเป็นเพื่อน ญาติ หรือผู้ใหญ่ที่เคารพได้เป็นคน forward ข้อมูลเหล่านั้นมา ... มักจะบอกว่า “ช่วยกันแชร์” “ไม่แชร์ไม่ได้” “อ่านให้จบ” อันนี้น่าเป็นห่วง หลายข้อมูลเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่

- เกิดจากบุคคลที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องนั้นๆ และเขียนมาเพื่อส่งต่อ

- ข้อมูลเก่าที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนและมีการส่งใหม่ไปมาและทำให้เชื่อว่าเป็นข้อมูลใหม่

- ข้อมูลที่มีการแก้ไขข้อมูลบางส่วน รวมถึงข้อมูลที่ให้ร้ายแก่บุคคลอื่น

ในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ นั้น ผู้ดำเนินธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มี แต่ต้องระวังการส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องด้วย และการแก้ไขจะทำได้ยาก เพราะการส่งข้อมูลส่วนใหญ่จะส่งข้อมูลในออนไลน์ ซึ่งไม่สามารถตามชี้แจงได้หมด ดังนั้นเราจำเป็นต้องมั่นใจก่อนว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นมีความน่าเชื่อถือ ถ้าไม่มั่นใจ ต้องเช็คก่อน ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบ ไม่ควรส่งต่อ เพราะเราอาจตกเป็นเครื่องมือในการทำลายความเชื่อมั่นในการดำเนินการนั้นๆ ได้โดยไม่รู้ตัว

“Check ก่อน Share, Don’t Share if Not Sure!”

นอกจากเรื่องของข้อมูลออนไลน์นั้น ผมอยากสรุปโดยสังเขปเรื่องการใช้พร้อมเพย์ดังนี้

หมายเลขที่ใช้ในการลงทะเบียนมี 2 ชนิด คือ

1. หมายเลขประจำตัวประชาชน

2. เบอร์โทรศัพท์มือถือ (สามารถใช้ได้ถึง 3 เบอร์)

การผูกบัญชีธนาคาร จะต้องเลือกว่าเราจะเอาบัญชีไหน ผูกกับหมายเลขอะไร ถ้าเรามีบัญชีธนาคารอยู่ 1 บัญชี เราจะผูกบัญชีนี้กับหมายเลขประจำตัวประชาชน และผูกไว้กับเบอร์มือถือได้ ถ้าเรามีบัญชีมากกว่าจำนวนหมายเลขที่จะผูกได้ (หมายเลขที่จะผูกได้ คือ หมายเลขประจำตัวประชาชน + จำนวนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มี (ถ้ามีมือถือ 2 เครื่อง -> หมายเลขที่จะผูกได้ = 1+2 = 3) เราจะต้องเลือกบัญชีธนาคารไม่เกิน 3 บัญชีเพื่อผูก

ผูกแล้วเปลี่ยนได้ โดยเราต้องแจ้งยกเลิกการผูกบัญชีกับธนาคารที่เราดำเนินการผูกบัญชีไว้เพื่อป้องกันการปลอมตัวตนในการใช้บัญชีของเรา ซึ่งเมื่อเราแจ้งให้ธนาคารทราบและดำเนินการแล้ว เราสามารถไปแจ้งกับธนาคารที่เราต้องการผูกบัญชีด้วยต่อไปได้

ข้อมูลเราโดนขโมยได้มั้ย หรือถ้าโทรศัพท์เราหายเงินเราจะหายหรือเปล่า ข้อมูลต่างๆ ของเราทางธนาคารจะรักษาข้อมูลเป็นความลับและไม่ได้ให้กับบุคคลอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานราชการใด ๆ นอกจากนี้การใช้บริการทางการเงินของลูกค้ายังเป็นการดำเนินการผ่านช่องทางเดิมที่มี เช่น Internet Banking หรือ Mobile Banking ซึ่งผู้ใช้บริการยังจะต้องใส่ข้อมูลก่อนการดำเนินการ อาทิ Username Password และการใส่รหัสที่มีระยะเวลากำหนด One Time Password อยู่เช่นเดิม

หลายเครื่องมือเกิดขึ้นใหม่ในช่วงที่ผ่านมา และมักจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ที่มีต้นทุนที่ต่ำลง แต่การใช้เครื่องมือที่เกิดใหม่นั้นมีความจำเป็นต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดผลที่ได้ตามที่ตั้งใจ และเราก็จะอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจของเราในเวทีที่คนอื่นๆ ก็มีเครื่องมือใหม่ๆ เช่นกัน